Who is a Buddha (2)?

(ต่อจากโพสแรก)

ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงไม่ใช่เพียงแค่ร่างๆหนึ่ง แต่เป็นคุณสมบัติของการเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ซึ่งคุณสมบัตินี้เองก็ได้แก่ “พระธรรม” ด้วยเหตุนี้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า “ใครก็ตามที่เห็นธรรม คนนั้นเห็นเรา” คนที่เข้าใจพระธรรม ก็คือผู้ที่ปฏิบัติจนมองเห็นความเป็นจริงตามที่เป็น รู้ว่าทุกข์เป็นอย่างไร รู้ว่าเหตุแห่งทุกข์เป็นอย่างไร รู้ว่าเมื่อใดมีทุกข์ รู้ถึงหนทางที่จะดับทุกข์ และรู้ถึงสภาวะอันเป็นการดับทุกข์ คนๆนั้นก็ได้ชือว่า “มองเห็น” พระพุทธเจ้า

Gautama Buddha

ดังนั้น ในคำพูดยุคหลังๆจึงมีการพูดถึง “พระธรรมกาย” อันหมายถึงคุณลักษณของการเป็นผู้ตื่นที่ดำรงอยู่ตลอดไม่สูญสลายไปไหน ที่ไม่สูญสลายก็เพราะว่า คุณสมบัติของพระธรรมไม่สูญสลาย เพราะเป็นจริงเช่นนี้อยู่ตลอดกาล ในแง่นี้ พระธรรมกับพระพุทธเจ้าเป็นหนึ่งเดียวกัน

นอกจากนี้ ในพระพุทธศาสนามหายาน ก็ยังมีการพูดเกี่ยวกับ “พระสัมโภคกาย” อันแปลว่า “กายรื่นรมย์” ของพระพุทธเจ้า ได้แก่กายที่อยู่ระหว่างกายเนื้อ หรือ “รูปกาย” กับ “ธรรมกาย” กายเนื้อหรือ “รูปกาย” ก็ได้แก่พระพุทธเจ้าที่อยู่ในรูปของกายเนื้อหนังปกติที่เรารู้จักกันดี ส่วน “ธรรมกาย” ก็ได้แก่กายพระธรรม หรือกายบริสุทธิ์อันเป็นคุณสมบัติของการเป็นพระพุทธเจ้า ที่ได้พูดถึงไปแล้วข้างต้น เราอาจจะพูดได้ว่า ที่เรียกว่า “พระธรรมกาย” นั้น คำว่า “กาย” ในคำนี้เป็นคำพูดเปรียบเทียบ เพื่อให้ผู้ที่ยังไม่หลุดพ้นจากการคิดแบบติดกับภาษา หรือยึดติดกับรูปร่าง  ได้เข้าใจว่าเป็นอย่างไร ซึ่งหากผู้ฟังหลุดออกจากกับดับของภาษา และเข้าใจความจริงตามที่เป็นอย่างสมบูรณ์แล้ว ก็จะไม่มีความจำเป็นต้องพูดเรื่อง “กาย” อีกต่อไป

ทีนี้ “กายรื่นรมย์” ของพระพุทธเจ้า ก็คือกายที่ข้างหนึ่งอยู่อย่างเป็นอิสระ เป็นคุณลักษณะของการเป็นพระพุทธเจ้า เช่นเดียวกับธรรมกาย แต่อีกข้างหนึ่ง ก็เป็นกายที่ผู้ปฏิบัติสามารถสัมผัสได้ หรือรับรู้ได้ว่าเป็นกายที่มีรูปร่าง มีเครื่องทรง มีพระสุรเสียง ฯลฯ เช่นเดียวกับ “รูปกาย” สาเหตุที่มีพระสัมโภคกาย หรือกายรื่นรมย์ก็เพราะว่า ในการปฏิบัติธรรมนั้น ย่อมต้องมีขั้นตอนระหว่างกลาง คือระหว่างการเป็นผู้เริ่มปฏิบัติธรรม กับการบรรลุเป็นพระพุทธเจ้าหรือเป็นผู้ตื่นอย่างสมบูรณ์ เราอาจเปรียบได้ว่า รูปกายของพระพุทธเจ้านั้น มีไว้สำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มปฏิบัติพระธรรม ยังไม่อาจเข้าใจพระธรรมอันลึกซึ้ง อันเป็นการปรากฏของพระธรรมกายได้ ส่วนพระธรรมกายเองนั้นก็เป็นสภาวะอันสมบูรณ์สูงสุด เป็นเป้าหมายของการปฏิบัติทั้งหมด แต่เนื่องจากการปฏิับัติหรือการเดินทางตามเส้นทางนั้น จำเป็นต้องอาศัยระยะเวลา และอาจมีอุปสรรคต่างๆ จึงมีพระสัมโภคกายขึ้น เพื่อเป็นตัวแทนของการปฏิบัติอยู่บนเส้นทางสู่การบรรลุพระพุทธภาวะ

เราอาจทำความเข้าใจเรื่องนี้อีกแบบหนึ่งได้เช่นนี้ พระธรรมกายนั้นเป็นสภาวะอันสมบูรณ์สูงสุดของพระธรรม ส่วนพระสัมโภคกายนั้น ก็ได้แก่พระธรรมกายนั่นแหละ แต่ปรากฏออกมาในรูปแบบที่ “เป็นรูปธรรม” มากขึ้น คือมีเครื่องทรง มีภูษาอาภรณ์ มีพระพักตร์ มีลักษณะเป็นชายหรือหญิง ฯลฯ แต่สภาวะ “รูปธรรม” ของพระสัมโภคกายนั้น ก็ยังมิใช่รูปธรรมแบบ “รูปกาย” ซึ่งคนทั่วไปทั้งหมดสามารถจับต้องได้ เพราะถึงแม้มีการทรงภูษาอาภรณ์ ฯลฯ ก็ยังเป็นสภาพที่เป็นนามธรรมอยู่ในสายตาของผู้เริ่มปฏิบัติ มีแต่ “รูปกาย” หรือเรียกอีกอย่างว่า “นิรมาณกาย” หรือ “กายนิรมิต” เท่านั้น ที่ ทุกคน สามารถมองเห็น จับต้อง ได้ยินเสียง ฯลฯ ได้

กล่าวโดยสรุป ก็คือว่า พระพุทธเจ้าทรงปรากฏพระองค์ได้ในหลายรูปแบบ หรือเป็นสามรูปแบบใหญ่ๆ ในสภาพอันเป็นสิ่งสมบูรณ์สูงสุดนั้น ทรงเป็นพระธรรมกาย แต่เพื่อให้พระพุทธเจ้าและคำสอนสามารถเข้าถึงคนทุกคน และสัตว์โลกทั้งหมดในสังสารวัฏได้  จึงปรากฏพระองค์ออกมาเป็นรูปกายหรือนิรมาณกาย และเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างสองสถานะนี้ ก็ปรากฏพระองค์เป็นพระสัมโภคกาย ทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของเหล่าสรรพสัตว์ทั้งสิ้น ทรงปรากฏพระองค์เป็นรูปกาย เพื่อประโยชน์ของสัตว์โลกที่เพิ่งเริ่มปฏิบัติ ทรงปรากฏพระองค์เป็นสัมโภคกาย เพื่อประโยชน์ของสัตว์โลกที่อยู่บนเส้นทางของการปฏิบัติ หรือผู้ที่เป็นพระโพธิสัตว์ ส่วนพระธรรมกายนั้น ได้แก่กายอันแท้จริงของพระพุทธเจ้า

Who is a Buddha (Thai)?

พระพุทธเจ้าคือใคร?

คำว่า “พุทธะ” ในภาษาบาลีหรือสันสกฤตแปลว่า “ผู้ตื่น” หมายความว่า ผู้ที่เป็นพระพุทธเจ้า เป็นผู้มองเห็นความจริงทั้งหมดอย่างไม่มีอะไรปิดบัง และเป็นเหมือนกับคนที่ตื่นขึ้นมา ในขณะที่คนอื่นๆยังคงหลับใหลกันอยู่ คนธรรมดาๆที่ไม่บรรลุธรรมจะเหมือนกับคนที่ยังหลับอยู่ แม้ว่าเขาอาจจะคิดว่าเขาตื่นอยู่ แต่เขาหลับอยู่เพราะเขายังมองไม่เห็นความเป็นจริง ว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นของว่าง ไม่มีอะไรเป็นแก่นสารสาระ ไม่มีอะไรที่จะยึดถือได้ว่าเป็นแก่นแท้ของสิ่งนั้นสิ่งนี้ ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “ตัวเขา” ที่เขาปรนเปรอตอบสนองความต้องการในด้านต่างๆ

คนที่ยังหลับอยู่เหล่านี้เหมือนกับคนที่อยู่ในโลกของความฝัน ในความฝันเรามองเห็นว่ามีสิ่งต่างๆ เช่น อาจฝันไปว่ากำลังเดินเล่นอยู่ หรือว่ายน้ำอยู่ จริงๆแล้วไม่มีสถานที่ที่กำลังเดิน แล้้วก็ไม่มีน้ำให้ว่าย เพราะกำลังนอนอยู่ ในทำนองเดียวกัน คนที่มองไม่เห็นความจริงตามที่เป็น ก็จะคิดไปว่า สิ่งที่เขามองเห็น สัมผัสจับต้อง ได้ยิน ฯลฯ เป็นจริง โลกที่เขาใช้ชีวิตอยู่นี้ เขาคิดว่าเป็นเช่นนั้นจริงๆ ซึ่งเมื่อคิดเช่นนี้ก็จะทำให้เกิดความทุกข์ อันเป็นลักษณะประจำของสังสารวัฏ ความทุกข์เป็นสิ่งสากลที่มนุษย์และสัตว์โลกทุกคนหรือทุกตัวต้องประสบ และที่เกิดขึ้นมาก็เพราะการมองเห็นผิดๆแบบนี้ ลักษณะสำคัญของความทุกข์ได้แก่การไม่เป็นที่พึงพอใจ การเป็นอะไรที่ไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น สภาวะที่มีการกดดันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ลักษณะเหล่านี้เกิดขึ้นมาก็เพราะว่า เมื่อมองเห็นผิดๆของของที่เห็น ที่จับต้อง ฯลฯ เป็นตัวเป็นตน เมื่อของเหล่านี้เสื่อมสลายไป หรือเป็นของที่ไม่เป็นอิสระในตัวเอง ก็เกิดความทุกข์ ยิ่งไปกว่านั้นของที่เป็นเช่นนี้ก็เรียกได้ว่าเป็นทุกข์ในตัวเอง อันเป็นผลมาจากการมองเห็นที่ผิดๆนั้นเอง

พระพุทธเจ้าคือผู้ที่สลัดการเห็นผิดๆออกหมดโดยสิ้นเชิง และการที่พระองค์ทรงเห็นเช่นนี้ ก็ทรงเห็นด้วยว่าสัตว์โลกทั้งหลาย ต่างก็ต้องแบกความทุกข์กันทั่วทั้งหมด ด้วยเหตุนี้จึงทรงเกิดความกรุณาอันมหาศาลที่แผ่ไปยังสัตว์โลกทั่วทั้งสังสารวัฏ ความกรุณาคือการรู้สึกร่วมถึงความทุกข์ของสัตว์อื่นๆ รับรู้ความทุกข์ของผู้อื่นและสัตว์อื่นๆ และความปรารถนาที่จะให้สัตว์เหล่านี้พ้นไปจากทุกข์ เราเองก็มีความกรุณาเวลาเราเห็นคนอื่นเจ็บปวด เรารู้ว่าเจ็บนั้นเป็นอย่างไร แล้วเราก็รีบเข้าไปช่วยเหลือ แต่ความกรุณาของพระพุทธเจ้านั้นแผ่ไพศาลไปยังทั่วทั้งจักรวาล ทรงรับเอาความทุกข์ของสัตว์ทั้งหมดมาไว้ที่พระองค์เอง ด้วยความปรารถนาจะช่วยสัตว์เหล่านั้นให้พ้นจากทุกข์

เมื่อเป็นเช่นนี้ พระพุทธเจ้าจึงปรากฏพระองค์ออกมาเป็นหลายรูปแบบ รูปแบบที่เราคุ้นกันมากที่สุดก็ได้แก่รูปแบบที่ทรงมีกายเนื้อ ถือกำเนิดมาเป็นมนุษย์ธรรมดาๆแบบเราๆ ท่านๆ แต่คำถามก็คือว่า กายเนื้อกายนี้หรือที่ เป็น พระพุทธเจ้า? หากเป็นเช่นนี้จริง เมื่อพระพุทธเจ้าองค์นี้ “ปรินิพพาน” (หรือ “ตาย”) ไป ก็จะไม่มีพระพุทธเจ้าอีกเลยไม่ว่ากรณีใดๆ การกราบไหว้บูชาหรือยึดพระพุทธเจ้าที่ที่พึ่ง ก็จะไม่มีความหมายใดๆ เพราะเราจะไปยึดคนตายไปแล้วเป็นที่พึ่งได้อย่างไร? การที่เราชาวพุทธยึดพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง แท้จริงแล้ว ไม่ใช่ไปยึดคนตายเป็นที่พึ่ง แต่เรายึด “พระพุทธคุณ” เป็นที่พึ่ง “พระพุทธคุณ” ก็ได้แก่คุณสมบัติต่างๆที่ทำให้เจ้าชายสิทธิัตถะเป็นพระพุทธเจ้า (หากจะพูดถึงพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน) ซึ่งก็หมายความว่า คุณสมบัติเหล่านี้ทำให้เจ้าชายสิทธิัตถะทรงกลายเป็น “ผู้ตื่น” ในความหมายที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

ดังนั้น เราจึงเห็นพ้องกันว่า พระพุทธเจ้าไม่ใช่เนื้อหนังหรือกองกระดูกของร่างมนุษย์ร่างหนึ่ง แต่เป็นคุณสมบัติของการเป็น “ผู้ตื่น” หรือจะพูดให้ครบก็ได้ว่า “ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน” ซึ่งหากคุณสมบัติเหล่านี้มีในผู้ใด ผู้นั้นก็ย่อมเป็นพระพุทธเจ้า พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า คำว่า “พระพุทธเจ้า” ไม่ใช่ชื่อเฉพาะ (วิสามานยนาม) แต่เป็นคำนามทั่วไป (สามานยนาม) ซึ่งก็คือคำๆนี้สามารถใช้ได้กับใครที่มีคุณสมบัติเป็น “ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน”

ใน พระมหาปรินิพพานสูตร เมื่อพระพุทธเจ้ากำลังเสด็จดับขันธ์ ท่านได้ตรัสแก่เหล่าสาวกว่า เมื่อพระองค์ปรินิพพานไป พระธรรมนี่แหละจะเป็นพระศาสนาของเหล่าสาวกนั้น ความหมายไม่ใช่ว่า ให้ยกพระธรรมวางไว้บนหิ้งบูชา แล้วมาเคารพกราบไหว้ว่าเป็นพระศาสนา แต่ความหมายก็คือว่า ไม่ว่าพระพุทธเจ้า (พระองค์นี้) จะทรงดำรงชีพมีเนื้อหนังที่หายใจอยู่ หรือไม่มีก็ตาม แต่ก็ไม่ต่างกัน เพราะพระสาวกที่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ก็ย่อมปฏิบัติไปตามที่ตนได้เคยได้รับการสั่งสอนมา การคิดว่ามีอะไรต่างกัน เป็นอาการของโรคยึดติด (อุปาทาน) ที่ไปยึดเอาว่า ร่างๆนี้เท่านั้นที่จะเป็นครูสั่งสอนเราได้ และหากไม่มีร่างนี้ทุกอย่างจะสูญสลายไปหมด