แนวทางการปฏิบัติธรรม

เมื่อสองสามวันก่อนผมได้รับเอกสารเล่มหนึ่งจากหน่วยงานด้านธรรมะของมหาวิทยาลัย ในนั้นมีอยู่หัวข้อหนึ่งพูดเรื่องแนวทางการปฏิบัติธรรม ซึ่งบอกว่ามีอยู่สองแนวใหญ่ๆ คือแนวที่เน้นศรัทธา กับแนวที่เน้นการศึกษาด้วยตัวเอง แนวแรกก็คือว่าผู้เรียนหรือผู้ปฏิบัติไปศึกษากับครูโดยตรง และจุดเน้นของการศึกษากับครูแบบนี้ก็คือศรัทธาที่เรามีในตัวครูรูปนั้น ส่วนอีกแบบหนึ่งคือการศึกษาและปฏิบัติธรรมด้วยการอ่านหนังสือธรรมะด้วยตนเอง หนังสือที่ผมได้รับมาบอกว่า แนวทางที่สองออกจะดีกว่าแนวแรกเพราะแม้ว่าการศึกษาธรรมะด้วยตนเองจะเป็นเรื่องยาก แต่หากศึกษาจนเกิดความเข้าใจก็จะ “สามารปฏิบัติธรรมได้อย่างอิสระ และพึ่งตนเองได้อย่างแท้จริง” ในขณะที่การปฏิบัติกับครูในแบบแรก หากได้ครูที่ไว้ใจไม่ได้ และเน้นที่ศรัทธาในตัวครูมากจนเกินไป โอกาสที่จะปฏิบัติไปในทางที่ผิดก็จะมีอยู่สูง ต้องเฟ้นหาครูที่ไว้ใจได้จริงๆ ต่างจากแนวที่สองที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้คิดค้น ไตร่ตรองใคร่ครวญด้วยตัวเอง ก่อนที่จะตกลงใจเชื่อและเข้าใจจริงๆ

ladakh_photos_NRIDZONG_0000

อย่างไรก็ตาม ข้อเสียของการปฏิบัติธรรมโดยอ่านหนังสือคนเดียว ที่หนังสือเล่มนี้ไม่ได้พูดถึงมากนัก ก็คือว่า หากผู้อ่านอ่านแล้วเข้าใจไปในทิศทางที่ผิดไปจากที่ผู้เขียนต้องการ ก็จะเข้ารกเข้าพงไปได้ง่ายมากๆ เนื่องจากไม่มีใครคอยชี้แนะ เราอาจคิดว่าการอ่านที่ผิดไปจากความต้องการสื่อสารของผู้เขียนจะเกิดขึ้นได้อย่างไร คำตอบก็คือเกิดขึ้นได้ง่ายมาก แม้แต่งานเขียนที่เป็นเรื่องพื้นๆธรรมดาๆก็ยังเกิดเหตุการณ์ว่าคนอ่านอ่านแล้วเข้าใจผิดไปจากเจตนาของผู้เขียน เช่นผู้เขียนตั้งใจจะสื่ออย่างหนึ่ง แต่ผู้อ่านอ่านแล้วเข้าใจว่าอีกอย่างหนึ่ง ที่เป็นเช่นนี้ส่วนมากก็มาจากว่าตัวหนังสือที่ปรากฏอยู่ในเล่มหนังสือนั้น ไม่มีอะไรที่เป็นหลักประกันได้เลยว่า จะสื่อความจากผู้เขียนถึงผู้อ่านไปได้ครบหมดร้อยเปอร์เซนต์ ยิ่งหากเป็นงานที่ยากมากๆมีความเป็นนามธรรมซับซ้อนอย่างคำสอนของพระพุทธเจ้าด้วยแล้ว โอกาสที่จะเข้าใจผิดก็ยิ่งมีมากขึ้น ดังนั้นการเรียนธรรมะแล้วไปปฏิบัติด้วยตนเอง จึงเป็นอะไรที่ต้องระวังมากเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้การเรียนธรรมะกับครูที่มีชีวิตจึงมีภาษีมากกว่าในแง่นี้ เพราะเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยน ซักถาม ซักซ้อมทำความเข้าใจ ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยในการเรียนและปฏิบัติธรรมะจากการอ่านเพียงอย่างเดียว

ในบทสนทนาเรื่อง เฟดรัส ของเพลโต โสกราตีสได้เสนอเหตุผลให้เฟดรัสฟังว่า การพูดมีน้ำหนักมากกว่าการเขียน เพราะในการพูด ผู้ฟังสามารถซักถามและโต้เถียงกับผู้พูดได้ทันที ทำให้การศึกษาปรัชญามีชีวิต ไม่เหมือนกับการอ่านงานเขียนที่มีนักปรัชญาเขียนเอาไว้ เมื่อมีข้อสงสัยหนังสือก็ไม่สามารถตอบอะไรได้ เพราะเป็นแค่กระดาษกับน้ำหมึก ในทำนองเดียวกันการอ่านธรรมะก็เหมือนกับฟังความอยู่ข้างเดียว ไม่มีการโต้ตอบสนทนา ซึ่งยากมากที่จะเกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ขึ้นมาได้

นอกจากนี้ การเรียนกับครูที่มีชีวิตโดยเฉพาะในการเรียนและการปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ยังมีประโยชน์มากที่สุดตรงที่ว่า ผู้เรียนจะได้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่ได้เรียนและได้ปฏิบัติตามคำสอนนี้มาจนเห็นผล และมองเห็นด้วยตาของตนเองว่า ผลของการปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นเป็นอย่างไรจริงๆ และผลนั้นก็ปรากฏตัวออกมาเป็นรูปธรรมในตัวบุคคลของผู้ที่เป็นครูของเราที่เราศึกษาอยู่ด้วยอย่างใกล้ชิด ในยุคของเรานี้มักมีเรื่องเกิดขึ้นเกี่ยวกับวงการของพระสงฆ์ ที่ทำให้ผู้คนมักเกิดความสงสัยว่าพระที่แท้จะยังเหลืออยู่อีกหรือ คำตอบก็คือว่า มีอยู่อีกมาก เราไม่จำเป็นต้องมีความสามารถในการมองเห็นได้ทันทีว่าใครเป็นพระอรหันต์ ใครไม่ใช่ เพราะมีแต่พระอรหันต์เท่านั้นที่ทำได้เช่นนี้ แต่ที่เรามีก็คือศรัทธาในตัวครูของเรา และจากศรัทธานี้เองที่จะนำไปสู่่ความเชื่อมั่น และการเห็นผลอันเป็นรูปธรรมที่ปรากฏอยู่ในตัวครูของเรา

เมื่อพูดเช่นนี้ คำถามที่เกิดขึ้นทันทีก็คือว่า แล้วเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าพระภิกษุรูปนี้ ที่เราคิดว่าควรจะฝากตัวเป็นศิษย์หรือไม่ มีคุณสมบัติตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น? เรื่องนี้ก็เป็นวงจรกลับไปกลับมา คือหากเราไม่สามารถมองเห็นคุณสมบัติในตัวครู เราก็จะไม่รู้ว่าควรเลือกครูรูปไหนดี แต่ถ้าเราไม่ยอกเลือกเรียนกับครูรูปใดเลย เราก็จะไม่มีโอกาสที่จะเริ่มต้นปฏิบัติธรรมกับครูเป็นๆที่มีชีวิตเลือดเนื้อได้เลย เพื่อทำลายวงจรนี้เราจำเป็นต้องอาศัยความเชื่อมั่นเป็นตัวนำไปก่อน ซึ่งก็คือศรัทธา ในประเพณีพระพุทธศาสนาของทิเบต มีหลักอยู่ว่าครูจะเลือกผู้ที่จะมาเป็นศิษย์ คือไม่ใช่ว่าใครมาขอเรียนวิชาด้วยครูจะรับหมด เรื่องนี้เกิดขึ้นได้ยากมากๆในทิเบต ที่เกิดขึ้นเป็นประจำก็คือว่า ครูจะพิจารณาบุคคลที่จะรับเป็นศิษย์อย่างละเอียด บางทีใช้เวลาเป็นปีๆกว่าจะตัดสินใจ และในทำนองเดียวกันศิษย์ก็จะเลือกผู้ที่จะมาเป็นครูของตนเองด้วย บางทีก็ใช้เวลาเป็นปีๆเช่นเดียวกัน ประโยชน์ของวิธีการแบบนี้ก็คือเป็นการคัดกรองคุณภาพของทั้งผู้ที่จะมาเป็นศิษย์และเป็นอาจารย์

ในบริบทของไทยเราก็ไม่ต่างกันมาก ปัญหาของคนไทยที่สนใจปฏิบัติธรรมก็คือว่า มีทางเลือกให้เลือกเป็นจำนวนมาก แล้วผู้จะเรียนก็มักจะเดินท่องไปสำรวจสำนักต่างๆ เข้าที่นั่นที ที่นี่ที แต่ไม่มีการสร้าง “ความผูกพัน” และ “การตกลงปลงใจ” (commitment) ที่จะศึกษาปฏิบัติกับสำนักใดสำนักหนึ่งอย่างจริงจัง ผลก็คือปฏิบัติธรรมไม่ก้าวหน้าไปไหน สิ่งที่อยากจะแนะนำผู้ปฏิบัติในท้ายที่สุดนี้ก็คือว่า หลังจากที่ได้ศึกษาทางเลือกของสำนักต่างๆมาระยะหนึ่ง ผู้เรียนต้องตัดสินใจเลือกและตกลงปลงใจจะใช้ชีวิตทางธรรมกับสำนักใดสำนักหนึ่งที่ตนเองพิจารณาแล้วเป็นสำนักที่เหมาะกับตนเองที่สุด หากไม่ทำเช่นนี้แล้วโอกาสที่จะปฏิบัติธรรมได้ผล เช่นจากการอ่านด้วยตัวเอง ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

 

ธรรมะจากหลวงปู่สิม

แม้กระทั้งสัตว์เดรัจฉาน ที่ตัวเล็กกว่ายุง เช่น
ริ้น ไรและลอด หลวงปู่ก็ยังสอนให้พวกเราให้ทาน

ตัวลอดนี่ หน้าตาเป็นยังไงก็ไม่รู้ ท่านบอกว่าตัวมันเล็ก
จนลอดผ้าเข้าไปกัดเราได้นั่นแหละและหลวงปู่ก็ยกย่องว่า

การที่เราให้ทานน้ำเลือดน้ำเหลืองในตัวเราแก่พวกนี้
เป็นทานบริสุทธิ์เสียด้วย
“ทานํ เม บริสุทฺธํ นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ”

“เวลาเรากินสัตว์อื่น เรากินทั้งเลือดทั้งเนื้อทั้งหนัง
ตับไตไส้พุง แม้กระทั่งกระดูก เลือดเนื้อเชื้อไขในตัวของเรา
ได้มาจากพ่อแม่ ไม่ได้ไปซื้อไปหามาจากไหน

ปล่อยให้เขากัดไปเถอะ ตั้งใจให้เป็นทานไป
เป็นทานละเอียดบริสุทธิ์”

อัตตโนประวัติ หลวงปู่สิม พุทธาจาโร หน้า ๖๕

“การเห็นทางธรรมสามระดับ”

หนังสือเล่มใหม่ของสำนักพิมพ์มูลนิธิพันดารา เพิ่งออกจำหน่ายเร็วๆนี้ คือ “การเห็นทางธรรมสามระดับ” ของเตชุงริมโปเช การเห็นทางธรรมสามระดับหมายถึงสามระดับของการรับรู้ทางธรรม ประกอบด้วยการเห็นอันไม่บริสุทธิ์ของผู้ที่ยังเป็นปุถุชน การเห็นของผู้ปฏิบัติธรรม และการเห็นอันบริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้า หนังสือเล่มนี้แปลจาก The Three Levels of Spiritual Perception พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Wisdom Publications สหรัฐอเมริกา

การเห็นสามระดับนี้หมายถึงลำดับขั้นของการพัฒนาทางจิตวิญญาณ เริ่มตั้งแต่ผู้ที่ยังไม่มีการพัฒนาอะไรเลย มาถึงผู้ที่กำลังพัฒนาฝึกฝนตัวเอง จนท้ายที่สุดจบที่ผลลัพธ์ของการฝึกฝน ซึ่งได้แก่การบรรลุเป็นพระพุทธเจ้า การเห็นระดับแรกเป็นการเห็นของบุคคลธรรมดาๆทั่วๆไป ที่มักเห็นอะไรที่เป็นไปตามอำนาจของกิเลสกับการปรุงแต่งต่างๆ คนธรรมดาๆที่ยังไม่ได้ฝึกฝนทางธรรมจะเห็นสิ่งรอบตัวในแบบที่เจือไปด้วยราคะ โทสะ โมหะ อยู่ตลอด ซึ่งทำให้คนธรรมดานี้ตกอยู่ใต้อำนาจของความทุกข์ และต้องว่ายเวียนอยู่ในสังสารวัฏอย่างไม่จบสิ้น ตัวอย่างของการเห็นในระดับนี้ก็เช่น เราเห็นรถใหม่ในงานแสดงรถแล้วเกิดความอยากได้ ความอยากได้นี้เรียกว่า “โลภะ” เป็นกิเลสอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นต้นตอของความทุกข์ หรือเราเห็นอะไรที่เราไม่ชอบ เกิดหงุดหงิดขึ้นมาจากการเห็นนั้น ก็เป็นเรื่องของการเห็นทีไม่บริสุทธิ์เช่นกัน สาเหตุหลักของความทุกข์ที่ทำให้ผู้คนเจ็บปวดมาเป็นระยะเวลายาวนานหลายภพหลายชาติ ก็อยู่ที่การเห็นอันไม่บริสุทธิ์นี่เอง เป้าหมายของการฝึกฝนตามคำสอนของพระพุทธเจ้าก็คือว่า ให้เราฝึกตัวเองให้พ้นจากสถานะอันไม่น่าพึงพอใจนี้

ในหนังสือ “การเห็นทางธรรม” เรื่องของการเห็นระดับแรก อันเป็นการเห็นที่ไม่บริสุทธิ์ของปุถุชนนี้ ก็มุ่งที่จะสอนให้คนธรรมดาๆทั่วๆไปเริ่มมองเห็นประโยชน์ของการเดินทางบนเส้นทางธรรม การเริ่มเดินทางนี้ก็เริ่มต้นที่การมองเห็นและเข้าใจว่าความทุกข์คืออะไร รู้ว่าไม่น่าพอใจอย่างไร เมื่อเกิดการรับรู้เช่นนี้แล้ว ก็จะเกิดความเบื่อหน่ายในสังสารวัฏ คิดว่าจะต้องมีอะไรที่มีความหมายมากกว่านี้ ซึ่งก็เป็นเป้าหมายของการสั่งสอนพระธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นอกจากนี้เรื้องต่างๆในหัวข้อการเห็นระดับแรกนี้ ก็ยังมีเรื่องกฎแห่งกรรม ผลร้ายของการปฏิบัติกรรมอันเป็นอกุศล ผลดีของการปฏิบัติกรรมอันเป็นกุศล ภพภูมิต่างๆ ความไม่เที่ยงของสิ่งต่างๆ ความแน่นอนของความตาย ความยากลำบากของการเกิดเป็นมนุษย์ ความไร้สาระของโลกของปุถุชนหรือสังสารวัฏ จุดมุ่งหมายของการสอนเกี่ยวกับการเห็นอันไม่บริสุทธิ์ ก็คือให้ผู้เรียนมองเห็นความไร้สาระของโลกที่เป็นอยู่ ที่คนทั่วไปติดข้องอยู่ เกิดความเบื่อหน่ายในความไร้สาระนี้ และให้ตระหนักรู้ว่าทางเลือกที่ดีกว่ามีจริง และสามารถไปถึงได้ และการไปถึงนั้นต้องทำอย่างไร

การเห็นระดับที่สองเรียกว่า “การเห็นเชิงประสบการณ์” ซึ่งประสบการณ์ในที่นี้หมายถึงประสบการณ์ทางธรรมของผู้ที่กำลังฝึกฝนตนเองบนเส้นทางของธรรมะ เราอาจเรียกการเห็นระดับที่สองนี้ได้ว่า เป็นการเห็นในขั้นตอนเปลี่ยนผ่านจากการเป็นปุถุชนไปสู่ผู้บรรลุธรรมเป็นพระพุทธเจ้า เนื่องจากคำสอนเกี่ยวกับการเห็นทางธรรมสามระดับนี้เป็นคำสอนในพระพุทธศาสนามหายาน เป้าหมายของการปฏิบัติธรรมจึงไม่ใช่แค่แสวงหาการหลุดพ้นส่วนตัว แต่อยู่ที่พัฒนาโพธิจิต อันเป็นจิตที่มุ่งมั่นเข้าสู่การตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้า เพื่อช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้พ้นจากกองทุกข์ ผู้ที่เดินตามเส้นทางแห่งโพธิจิตนี้ก็ได้ชื่อว่าเป็นพระโพธิสัตว์ ดังนั้นผู้ที่มีการเห็นในระดับที่สองนี้ จึงก้าวข้ามระดับของการเป็นปุถุชนไปแล้ว เนื่องจากเขาตระหนักรู้แก่ใจอย่างลึกซึ้งว่าสังสารวัฏเต็มไปด้วยความทุกข์ จึงต้องฝึกฝนตัวเองเพื่อให้ตัวเองพ้นจากความทุกข์นั้น รวมทั้งพัฒนาความสามารถที่จะช่วยเหลือสัตว์โลกให้พ้นจากทุกข์นี้ด้วย เรื่องนี้ก็เหมือนกับคนที่ “ตาสว่าง” สามารถมองเห็นอะไรได้อย่างชัดเจน จะมีความสงสารเพื่อนร่วมโลกที่ยังมองไม่เห็นอย่างที่ตัวเองเห็น มีสายตามืดบอดว่ายสะเปะสะปะไม่รู้ทิศทาง จึงทำทุกวิถีทางที่จะช่วยให้เพื่อนๆมองเห็นได้แบบเดียวกับตนเอง ด้วยเหตุนี้หัวข้อต่างๆในระดับของการเห็นเชิงประสบการณ์นี้ จึงเป็นเรื่องโพธิจิตเป็นหลัก

โพธิจิตแบ่งออกได้เป็นหลายประเภท หากแบ่งตามความตั้งใจของผู้ปฏิบัติ ก็แบ่งได้เป็น “โพธิจิตอธิษฐาน” กับ “โพธิสิตปฏิบัติ” อย่างแรกเป็นความตั้งใจจริงที่จะเลือกเดินทางบนเส้นทางของพระโพธิสัตว์ เนื่องจากรู้แล้วว่ามีแต่การบรรลุเป็นพระพุทธเจ้าในท้ายที่สุดเท่านั้น ที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้พ้นจากทุกข์ได้อย่างสมบูรณ์ ส่วนอย่างหลังเป็นการลงมือเดินบนเส้นทางนี้จริงๆหลังจากที่มีโพธิจิตแบบแรกแล้ว แต่หากแบ่งโพธิจิตออกตามลักษณะของความเป็นจริง ก็แบ่งได้เป็น “โพธิจิตสมมติ” กับ “โพธิจิตปรมัตถ์” อย่างแรกเป็นโพธิจิตที่ตั้งอยู่บนความจริงแบบสมมติ ซึ่งได้แก่ความจริงที่เป็นไปตามการปรุงแต่งต่างๆ ส่วนอย่างหลังเป็นโพธิจิตที่ตั้งอยู่บนความจริงแบบปรมัตถ์ที่เป็นอยู่จริงๆ การปฏิบัติในขั้นของโพธิจิตสมมติ ประกอบด้วยการบ่มเพาะความเมตตากรุณา การพิจารณาว่าตัวเองเสมอเหมือนกับสัตว์โลกอื่นๆทุกอย่าง การแลกเปลี่ยนตนเองกับสัตว์โลก ส่วนการปฏิบัติในขั้นตอนของโพธิจิตปรมัตถ์นั้นประกอบด้วยการฝึกสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา ทั้งหมดนี้เป็นขั้นตอนต่างๆของการปฏิบัติในระดับของการเห็นขั้นที่สอง เป้าหมายของการปฏิบัติตามการเห็นขั้นที่สอง ได้แก่การบรรลุถึงระดับของการเห็นขั้นที่สาม อันเป็นการเห็นอันบริสุทธิ์ของผู้บรรลุธรรมเป็นพระพุทธเจ้า

กล่าวโดยสรุป หนังสือเล่มนี้ได้รวบรวมคำสอนทั้งหมดเกี่ยวกับการพัฒนาฝึกฝนตนเอง จากผู้ที่ไม่มีอะไร เป็นปุถุชนเต็มที่ จนถึงการบรรลุเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เกี่ยวกับพระอาจารย์เตชุงริมโปเช

พระอาจารย์เตชุงริมโปเช (Deshung Rinpoche) เป็นพระอาจารย์ที่สำคัญมากที่สุดรูปหนึ่งในพระพุทธศาสนาทิเบต  ท่านเป็นพระอาจารย์ในสายสาเกียปะ มีชีวิตอยู่ในระหว่างปี ค.ศ. 1906 ถึงปี 1987 ท่านเป็นพระภิกษุที่คงแก่เรียนมาก และเป็นที่รู้จักนับถือกันอย่างกว้างขวางว่าเป็นพระภิกษุที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบมากๆรูปหนึ่ง

รูปหน้าปก

รูปหน้าปกของหนังสือเล่มนี้ เป็นรูปของพระมหาสิทธิวิรูปะกำลังหยุดดวงอาทิตย์ วาดโดยคุณอธิพงศ์ ภาดานุพงศ์ พระมหาสิทธะวิรูปะเป็นพระอาจารย์ในมหาวิทยาลัยนาลันทาในอินเดียในอดีต ท่านเป็นต้นรากของคำสอนที่พัฒนามาเป็น “การเห็นทางธรรมสามระดับ” นี้ ซึ่งเรียกในภาษาทิเบตว่า “ล้มเดร” เรื่องราวชีวิตของท่าน ตลอดจนเหตุว่าทำไมท่านจึงหยุดดวงอาทิตย์ได้ และหยุดไปเพราะเหตุใด มีอยู่ในหนังสือแล้ว

หนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งในชุด “คำสอนจากมหาวิทยาลัยนาลัทา” ของสำนักพิมพ์มูลนิธิพันดารา

 

รู้ได้อย่างไรว่าเป็นธรรมะที่แท้จริง และพระอาจารย์ที่แท้จริง

ในขณะนี้กำลังมีข่าวเกี่ยวกับพระภิกษุถูกฟ้องอีกแล้ว ก็นับว่าสั่นสะเทือนวงการชาวพุทธพอสมควร เพราะท่านนี้เป็นที่นับถือกันว่าเป็นพระปฏิบัติที่เคร่งครัด และมีแนทางสอนเพื่อให้บรรลุมรรคผลโดยตรง เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนีขึ้นมา ชาวพุทธก็เกิดความท้อแท้ใจ คิดว่าพระดีจริงๆไม่มีเลยหรืออย่างไร ทำไมเมื่อมีพระภิกษุที่มีชื่อเสียงขึ้นมา มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย ก็เกิดเรื่องทุกที เพราะเราเพิ่งเคยได้ยินข่าวเกี่ยวกับเรื่องแบบนี้มาไม่นาน แล้วก็มาเกิดอีก หลายท่านอาจจะสงสัยว่า เราจะมีวิธีการอะไรหรือไม่ ที่จะตรวจสอบคำสอนของพระภิกษุ เพื่อที่เราจะได้รู้ว่า พระท่านนี้ควรที่เราจะฝากตัวเป็นศิษย์หรือไม่

ในคำสอนของทิเบต การตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นอาจารย์เป็นสิ่งสำคัญมาก และในขณะเดียวกันการที่พระอาจารย์จะตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็นศิษย์ของมีความสำคัญมากไม่แพ้กัน ในหนังสือเรื่อง “การเห็นทางธรรมสามระดับ” เตชุงริมโปเชได้สอนไว้ว่า ในการตรวจคุณสมบัติของผู้ที่เราจะฝากตัวเป็นศิษย์นั้น ประการแรก ผู้ที่ควรแก่การเป็นอาจารย์ผู้สอนการปฏิบัติธรรม จะต้องมีความประพฤติที่ไม่ด่างพร้อยใดๆ และมีกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมที่บริสุทธิ์สะอาด ประการที่สอง เจตนาของท่านในการสั่งสอนจะต้องเป็นเจตนาที่บริสุทธิ์ กล่าวคือท่านมีจิตมุ่งมั่นที่จะสอนผู้คนให้เกิดดวงตาเห็นธรรม มองเห็นแนวทางที่นำไปสู่เป้าหมายสูงสุดของคำสอนจริงๆ ประการที่สาม ท่านต้องมีปัญญาอันบริสุทธิ์ กล่าวคือต้องมีความรู้แตกฉานในข้อธรรม ในคัมภีร์ต่างๆ และที่สำคัญคือรู้และเข้าใจความหมายของข้อความในคัมภีร์เหล่านั้นอย่างลึกซึ้ง เตชุงริมโปเชเน้นหนักที่ข้อสามนี้อย่างยิ่ง ผู้ที่เราควรจะยกย่องเป็นอาจารย์จะต้องไม่มีเพียงแค่ความรู้แบบครึ่งกลางๆในคัมภีร์อันเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า แต่ต้องมีความรู้เต็มสมบูรณ์ครบถ้วน ผู้ที่เราจะรับเป็นพระอาจารย์จะต้องไม่มีการสอนอย่างผิดๆ ซึ่งเกิดจากการไม่เข้าใจคำสอน หรือมิได้ปฏิบัติตามคำสอนจนเห็นแจ้ง พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ผู้สอนนั้นจะต้องเข้าถึงและมองเห็นความเป็นจริงอันเดียวกันกับที่ปรากฏอยู่ในคำสอนที่ตนเองกำลังจะสอน เรื่องนี้สำคัญอย่างยิ่ง

เราอาจเปรียบเทียบได้กับการสอนเรื่องอื่นๆ เช่นการว่ายน้ำ เมื่อเราเรียนว่ายน้ำ เราก็อยากจะเรียนกับครูที่ว่ายน้ำเก่ง มีประสบการณ์โดยตรงกับการว่ายน้ำมาเป็นอย่างดี เมื่อครูเช่นนี้อธิบายให้เราฟังเกี่ยวกับเทคนิคการว่ายน้ำ ก็จะออกมาจากใจโดยตรง จากประสบการณ์ตรงของตัวเองในฐานะนักว่ายน้ำ เราคงไม่อยากเรียนกับครูที่ว่ายน้ำไม่เป็น เพียงแต่เคยอ่านเรื่องว่ายน้ำมาเท่านั้น

ทีนี้เราก็อาจเกิดปัญหาว่า แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าพระอาจารย์รูปนี้เห็นแจ้งเรื่องที่ตนเองกำลังสอนอยู่จริงๆ แต่เวลาเราหาครูว่ายน้ำ เรารู้ได้อย่างไรว่าครูคนนี้ว่ายน้ำเป็นจริงๆพอจะสอนได้? ปกติเราก็ไม่ไดสงสัยเรื่องนี้ เราอาจเห็นครูคนนี้ว่ายน้ำอย่างคล่องแคล่ว ซึ่งก็เป็นตัวชี้วัดที่ดี ดังนั้นในกรณีของพระอาจารย์สอนธรรมะ เราก็น่าจะสังเกตได้แบบเราๆที่ยังอยู่ในระดับโลกียะว่าท่านได้ปฏิบัติตามคำสอนจนได้ผลจริงๆ เช่น เราไม่เคยเห็นท่านโกรธเลย หรือเรื่องพัวพันใดๆกับทางโลกเลย เป็นต้น

นอกจากนี้ เงื่อนไขสองประการแรกที่กล่าวมาข้างต้น ก็เป็นอะไรที่เราสังเกตได้ไม่ยาก คือการประพฤติปฏิบัติตนของพระอาจารย์ว่าเป็นไปตามพระวินัย ไม่อะไรด่างพร้อยให้ผู้คนติฉินนินทาหรือไม่ หรือเงื่อนไขที่สองเกี่ยวกับเจตนาในการสั่งสอนธรรมะ ก็สังเกตได้ไม่ยากเช่นกัน เช่นเจตนาจะสอนเพื่อให้ลูกศิษย์พ้นทุกข์หรือไม่ หรือเพื่อแสวงหาลาภยศชื่อเสียงส่วนตัว

ในทิเบตเรื่องการหาพระอาจารย์ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเป็นเรื่องสำคัญมาก เช่นเดียวกับการที่อาจารย์จะรับสอนเฉพาะศิษย์ที่คุณสมบัติเหมาะสม ซึ่งก็สำคัญมากเช่นเดียวกัน อาจเปรียบได้ว่าแม่เหล็กคนละขึ้วที่จะดึงดูดกัน หรือคู่ของสิ่งที่เหมือนๆกัน ซึ่งก็จะดึงดูดกันเช่นเดียวกัน ในทิเบต เวลาศิษย์จะไปขอวิชากับพระอาจารย์ บางทีอาจารย์รอดูพฤติกรรมของผู้ที่จะมาเป็นศิษย์ถึงสามปีกว่าจะรับเป็นศิษย์สอนวิชาให้ หรือบางทีคนที่จะเรียนปฏิบัติธรรมะ ก็ใช้เวลามากๆในการตรวจสอบผู้ที่ตนเองจะฝากตนฝากชีวิตไว้ให้เป็นพระอาจารย์ของตนเช่นกัน

กำหนดการบรรยายธรรมของญีมาทักปาริมโปเช

โปรแกรมธรรมบรรยาย พระอาจารย์ ลาตรี เคนโป เกเช ญีมา ทรักปา ริมโปเช

21-24 กันยายน 2553 : “เปลี่ยนแปลงตนเองบนวิถีซกเช็น” ศูนย์ขทิรวัน (กุนเทรอลิง) หัวหิน

ภาวนา 3 คืน 4 วันเพื่อฝึกตนบนวิถีซกเช็น คำสอนล้ำค่าในพุทธศาสนาวัชรยาน

25-26 กันยายน 2553 : “วันมหาพุทธบูชาเพื่อกรุณาและสันติสุข” ศูนย์ขทิรวัน (กุนเทรอลิง) หัวหิน; เขื่อนแก่งกระจาน เพชรบุรี

ถวายเครื่องบูชา 5000 ที่แด่พระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ร่วมพิธีมนตราภิเษกเพื่อให้มีอายุยืนยาว

และพิธีเรียกขวัญเพื่อโชคลาภและฐานชีวิตที่มั่นคง ปล่อยชีวิตปลา 100,000 ตัว และฟังธรรมเพื่อบ่มเพาะกรุณาและสันติสุขในหัวใจ

28 กันยายน 2553 : “จะตั้งจิตเพื่อการหลุดพ้นได้อย่างไร” 18.30-20.30 น.  บ้านมูลนิธิพันดารา ลาดพร้าว ซอย 11

ชีวิตของเราและสัตว์ทั้งหลายล้วนแวดล้อมไปด้วยความทุกข์ แต่จริงๆแล้วมีหนทางให้เราเป็นอิสระจากความทุกข์เหล่านี้

หนทางดังกล่าวคือหนทางสู่ความหลุดพ้นซึ่งเริ่มตั้งแต่เวลานี้

29 กันยายน 2553 :  “เปลี่ยนชีวิตให้เป็นการปฏิบัติธรรม” 18.30-20.30 น.  บ้านมูลนิธิพันดารา ลาดพร้าว ซอย 11

ในแต่ละวันเราใช้เวลาทำเรื่องต่างๆมากมาย หลายคนบอกว่าไม่มีเวลาปฏิบัติธรรม แต่จริงๆแล้ว การปฏิบัติธรรมเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

เราสามารถเปลี่ยนสิ่งต่างๆที่เราทำอยู่แล้ว ให้เป็นการปฏิบัติธรรมได้

30 กันยายน 2553 : “ภาวนาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงและความตาย” 17.30-20.00 น.  หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ จตุจักร

การตระหนักว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมดาและความตายเป็นเรื่องใกล้ตัวทำให้เห็นคุณค่าของทุกขณะในชีวิต

และทำให้ได้เตรียมความพร้อมเมื่อความตายมาถึง พระอาจารย์จะแนะวิธีคิดและสอนการฝึกสมาธิเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงและความตาย

2 ตุลาคม 2553 : “ความสุขในมุมมองของซกเช็น” 15.00-17.00 น.

การบรรยายนี้เป็นส่วนหนึ่งของการประชุมเรื่อง “ความสุข กับจิตวิญญาณในสังคมสมัยใหม่”

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ซกเช็นสอนให้ไม่ยึดติดในทวิลักษณ์​ให้เห็นสิ่งต่างๆในลักษณะที่เป็นโดยไม่ปรุงแต่ง ไม่เสแสร้ง

ความสุขเกิดได้ด้วยทัศนคติแบบนี้และด้วยการฝึกจิตให้ผ่อนคลายและเบิกบาน อยู่ตลอดเวลา

หมายเหตุ: ทุกกิจกรรมไม่ได้เก็บค่าลงทะเบียน ยกเว้นการภาวนาซกเช็นในวันที่ 21-24 กันยายน

ท่านสามารถร่วมทำบุญกับมูลนิธิในการเป็นเจ้าภาพจัดธรรมบรรยายเหล่านี้และในการถวายค่าเดินทางของพระอาจารย์

งทะเบียนที่ : Email: 1000tara@gmail.com; มือถือ: 0806100770

รายละเอียดเพิ่มเติม โปรดดู http://krisadawan.wordpress.com,     http://www.thousand-stars.org

และในหน้าของมูลนิธิพันดาราในFacebook http://www.facebook.com/#!/ThousandStarsFoundation?ref=ts

นำพาความเจ็บป่วยกับความตายสู่เส้นทางกุศล

ภิกษุทกเมซังโบ (อสังคภัทรภิกษุ)

ขอนอบน้อมแด่พระอาจารย์!

กายอันเป็นมายากองนี้ อันข้าพเจ้าเป็นเจ้าของอยู่เช่นเดียวกับสิ่งอื่นๆ หากกายนี้เจ็บป่วยลง ก็ขอให้เป็นเช่นนั้นเถิด! ข้าพเจ้าจะยินดีในความเจ็บป่วย เนื่องจากจะทำให้อกุศลกรรมของข้าพเจ้าที่มาจากอดีตหมดสิ้นไป นอกจากนี้การปฏิบัติธรรมหลายๆแบบ ก็มีไว้เพื่อชำระล้างกิเลสสองประการ

หากข้าพเจ้ามีสุขภาพดี ก็ขอให้เป็นเช่นนั้นเถิด! ข้าพเจ้าจะยินดีกับความเป็นอิสระจากความเจ็บไข้ เมื่อร่างกายและจิตใจอยู่ดี และสงบ ก็จะเกิดการประกอบกุศลกรรม และกุศลกรรมนั้นก็จะเข้มแข็งขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นการให้ความหมายแก่ชีวิตมนุษย์ ก็อยู่ที่การอุทิศกาย วาจา ใจ ให้แก่กุศลกรรม

หากข้าพเจ้าประสบกับความยากจน ก็ขอให้เป็นเช่นนั้นเถิด! ข้าพเจ้าจะยินดีกับการปราศจากทรัพย์สมบัติ ข้าพเจ้าจะไม่มีอะไรให้ปกป้อง ไม่มีอะไรให้สูญเสีย การทะเลาะวิวาทและความขัดแย้งใดๆ ต่างเกิดจากความโลภอยากได้ทรัพย์สมบัติทั้งสิ้น นี่เป็นความจริง!

หากข้าพเจ้ามีทรัพย์สมบัติ ก็ขอให้เป็นเช่นนั้นเถิด! ข้าพเจ้าจะสามารถเพิ่มพูนบุญกุศลได้ นั่นก็เป็นการเพียงพอแล้ว ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์หรือความสุขใดๆที่จะมีขึ้น ไม่ว่าในขณะนี้หรือในอนาคต ต่างก็เกิดจากบุญกุศลที่ข้าพเจ้าได้สั่งสมมา นี่เป็นความจริง!

หากข้าพเจ้าต้องตายในเร็ววัน ก็ขอให้เป็นเช่นนั้นเถิด! ข้าพเจ้าจะยินดีในความตาย เมื่อข้าพเจ้าปราศจากสถานการณ์ที่จะไปสู่อกุศล และเมื่อมีแรงสนับสนุนจากกุศลกรรมที่ได้สั่งสมมา ข้าพเจ้าก็จะเดินทางไปบนหนทางอันเที่ยงแท้และไม่ผิดพลาดอย่างแน่นอน!

หากข้าพเจ้ามีอายุยืนยาว ก็ขอให้เป็นเช่นนั้นเถิด! ข้าพเจ้าจะยินดีในอายุยืนยาว เมื่อพืชผลอันได้แก่ประสบการณ์ที่แท้จริงเกิดขึ้น เมื่อแสงแดดกับสายผนแห่งคำสอนมิได้ถดถอย เมื่อดูแลพืชผลเหล่านี้ในระยะเวลาหนึ่ง ก็จะให้ผลที่สุกงอมอย่างแน่นอน ดังนั้นไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ก็ขอให้เราปลูกฝังความปิติยินดีเถิด!

คำสอนนี้ประพันธ์ขึ้นเพื่อตอบคำถามของพระเกเชสายสาเกียท่านหนึ่ง ที่ถามว่าเราต้องทำอย่างไรเมื่อเกิดความเจ็บป่วยและอื่นๆ ข้าพเจ้า ภิกษุทกเมผู้ฟังและสอนพระธรรม ได้วางหนทางเหล่านี้เพื่อนำพาความเจ็บป่วยและสถานการณ์อื่นๆให้เข้าสู่เส้นทางอันเป็นกุศล ขอสรรพมงคลจงบังเกิด!

ต้นฉบับภาษาอังกฤษ

http://www.lotsawahouse.org/lojong/transform_sickness.html

การบรรยายที่สุรินทร์

เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๕ ธันวาคมที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญให้ไปบรรยายเรื่อง “การประยุกต์พุทธธรรมกับการวิจัยวิทยาศาสตร์สมัยใหม่” ที่โรงพยาบาลสุรินทร์ ต้องเดินทางออกจากบ้านตั้งแต่หกโมงเช้า ถึงสุรินทร์ราวๆสิบเอ็ดนาฬิกา พูดตั้งแต่บ่ายโมงถึงบ่ายสาม บ่ายสี่โมงเดินทางกลับ ถึงบ้านสามทุ่ม แต่ก็ได้ประสบการณ์ดีๆ และได้พบกับผู้คนที่หลายคนรู้จักกันมาก่อน และเคยทำงานด้วยกัน และอีกหลายคนก็เพิ่งได้รู้จักกัน ผมได้บันทึกไฟล์เสียงของการประชุมไว้ ฟังได้ที่ข้างล่างนี้ ส่วนไฟล์เพาเวอร์พอยต์คลิกได้ ที่นี่

Talk at Surin

ธรรมชาติพุทธะ

เรามีตัวอย่างที่ได้จากพระอาจารย์ของอาตมาเอง คือท่านงาวังเลกปาริมโปเช ท่านกล่าวว่า สมมติว่าเรามีโลหะอยู่ก้อนหนึ่ง เช่นทองเหลือง เราอาจใช้โลหะก้อนนี้มาทำกระโถน แล้วผู้คนก็จะบอกว่านี่เป็นสิ่งสกปรกมากๆ ผู้คนใช้กระโถนนี้ไปห้องน้ำ เขาจะคิดว่านี่เป็นสิ่งสกปรก แตะต้องไม่ได้ แต่เมื่อเราเอากระโถนใบนี้ไปหลอมใหม่ ตีขึ้นรูปใหม่ให้เป็นถ้วยถวายเครื่องบูชาอันสดใสแวววาว ผู้คนกลุ่มเดียวกันนี้ก็จะพูดว่า “ถ้วยใบนี้ช่างสวยเสียนี่กระไร! เราไม่สามารถใช้ถ้วยเช่นนี้ในครัวได้ ขอให้เอาถ้วยใบนี้ไปใส่เครื่องบูชาถวายพระเถอะ!” ต่อไปเราเอาโลหะก้อนเดียวกันนี้มาหลอมใหม่อีกครั้ง แล้วเปลี่ยนให้เป็นพระพุทธรูป แล้วผู้คนก็จะกราบลงกับพื้น กล่าวว่านี่เป็นสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตของพวกเขาและแสดงความเคารพบูชาอย่างสูงสุด ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้แก่โลหะก้อนเดียวกันนี้

ขอให้เราพิจารณาจิตของมนุษย์คนหนึ่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงมีอะไรที่เหมือนกับคนอนาถาที่เราเห็นทนทุกข์ทรมานอยู่ตามตรอกบ้าง? จะมีอะไรที่ต่างกันมากไปกว่านี้อีกหรือ? ธรรมชาติพุทธะในใจของสัตว์โลกเหล่านี้อยู่ที่ใด? นี่คือสัตว์โลกที่ธรรมชาติพุทธะของพวกเขาไม่ได้รับการรับรู้ ซึ่งก็เป็นเช่นเดียวกับกระโถนในส้วม คือความเป็นไปได้ของพวกเขาที่จะบรรลุเป็นพระพุทธเจ้าไม่ชัดเจน แต่คนเข็ญใจคนหนึ่งที่อาจจะเป็นคนที่น่าสมเพชเวทนาที่สุด ก็ยังมีธรรมชาติพุทธะอยู่ในใจของเขา ไม่ว่าเขาเองหรือคนอื่นจะมองเห็นตรงนี้หรือไม่ก็ตาม คนเข็ญใจนี้ก็เหมือนกับการที่เราเอาโลหะมาทำเป็นกระโถนในส้วม ทีนี้เอาคนเข็ญใจคนนี้สอนพระธรรม แสดงให้เขาเห็นว่าปฏิบัติสมาธิอย่างไร จะหลีกเลี่ยงอกุศลกรรมและสั่งสมบุญบารมีอย่างไร หลังจากนี้ไม่นานเขาก็กลายเป็นพระโพธิสัตว์ เนื่องจากหากเขาเพียรปฏิบัติเยี่ยงพระโพธิสัตว์ ไม่นานเขาก็จะเป็นพระโพธิสัตว์ ทีนี้เขาก็จะเป็นเหมือนกับโลหะทองเหลืองก้อนนี้ที่มาทำเป็นถ้วยบูชาอันควรแก่การถวายเครื่องบูชา และพระโพธิสัตว์นี้หากท่านเพียรพยายามต่อไป ก็จะกลายเป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เององค์หนึ่ง นี่ตรงกับขั้นตอนที่สามในตัวอย่างของเรา เมื่อโลหะก้อนนี้เปลี่ยนไปเป็นพระพุทธรูป

ในกรณีทั้งสามนี้ เราใช้วัตถุก้อนเดียวกัน นั่นก็คือธรรมชาติของจิต หรือธรรมชาติอันตื่นรู้เป็นพุทธะ นี่เองที่เชื่อมโยงสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับสัตว์โลกในสังสารวัฏที่ต่ำที่สุด ลงไปจนถึงแมลง ทั้งหมดต่างก็มีธรรมชาติตื่นรู้นี้อยู่ภายในทั้งสิ้น ทั้งหมดเป็นเพียงเรื่องของการมองเห็นรับรู้และการชำระล้างเท่านั้น

–จากหนังสือเรื่อง “การเห็นทางธรรมสามระดับ” ของเตชุงริมโปเช