แนวทางการปฏิบัติธรรม

เมื่อสองสามวันก่อนผมได้รับเอกสารเล่มหนึ่งจากหน่วยงานด้านธรรมะของมหาวิทยาลัย ในนั้นมีอยู่หัวข้อหนึ่งพูดเรื่องแนวทางการปฏิบัติธรรม ซึ่งบอกว่ามีอยู่สองแนวใหญ่ๆ คือแนวที่เน้นศรัทธา กับแนวที่เน้นการศึกษาด้วยตัวเอง แนวแรกก็คือว่าผู้เรียนหรือผู้ปฏิบัติไปศึกษากับครูโดยตรง และจุดเน้นของการศึกษากับครูแบบนี้ก็คือศรัทธาที่เรามีในตัวครูรูปนั้น ส่วนอีกแบบหนึ่งคือการศึกษาและปฏิบัติธรรมด้วยการอ่านหนังสือธรรมะด้วยตนเอง หนังสือที่ผมได้รับมาบอกว่า แนวทางที่สองออกจะดีกว่าแนวแรกเพราะแม้ว่าการศึกษาธรรมะด้วยตนเองจะเป็นเรื่องยาก แต่หากศึกษาจนเกิดความเข้าใจก็จะ “สามารปฏิบัติธรรมได้อย่างอิสระ และพึ่งตนเองได้อย่างแท้จริง” ในขณะที่การปฏิบัติกับครูในแบบแรก หากได้ครูที่ไว้ใจไม่ได้ และเน้นที่ศรัทธาในตัวครูมากจนเกินไป โอกาสที่จะปฏิบัติไปในทางที่ผิดก็จะมีอยู่สูง ต้องเฟ้นหาครูที่ไว้ใจได้จริงๆ ต่างจากแนวที่สองที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้คิดค้น ไตร่ตรองใคร่ครวญด้วยตัวเอง ก่อนที่จะตกลงใจเชื่อและเข้าใจจริงๆ

ladakh_photos_NRIDZONG_0000

อย่างไรก็ตาม ข้อเสียของการปฏิบัติธรรมโดยอ่านหนังสือคนเดียว ที่หนังสือเล่มนี้ไม่ได้พูดถึงมากนัก ก็คือว่า หากผู้อ่านอ่านแล้วเข้าใจไปในทิศทางที่ผิดไปจากที่ผู้เขียนต้องการ ก็จะเข้ารกเข้าพงไปได้ง่ายมากๆ เนื่องจากไม่มีใครคอยชี้แนะ เราอาจคิดว่าการอ่านที่ผิดไปจากความต้องการสื่อสารของผู้เขียนจะเกิดขึ้นได้อย่างไร คำตอบก็คือเกิดขึ้นได้ง่ายมาก แม้แต่งานเขียนที่เป็นเรื่องพื้นๆธรรมดาๆก็ยังเกิดเหตุการณ์ว่าคนอ่านอ่านแล้วเข้าใจผิดไปจากเจตนาของผู้เขียน เช่นผู้เขียนตั้งใจจะสื่ออย่างหนึ่ง แต่ผู้อ่านอ่านแล้วเข้าใจว่าอีกอย่างหนึ่ง ที่เป็นเช่นนี้ส่วนมากก็มาจากว่าตัวหนังสือที่ปรากฏอยู่ในเล่มหนังสือนั้น ไม่มีอะไรที่เป็นหลักประกันได้เลยว่า จะสื่อความจากผู้เขียนถึงผู้อ่านไปได้ครบหมดร้อยเปอร์เซนต์ ยิ่งหากเป็นงานที่ยากมากๆมีความเป็นนามธรรมซับซ้อนอย่างคำสอนของพระพุทธเจ้าด้วยแล้ว โอกาสที่จะเข้าใจผิดก็ยิ่งมีมากขึ้น ดังนั้นการเรียนธรรมะแล้วไปปฏิบัติด้วยตนเอง จึงเป็นอะไรที่ต้องระวังมากเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้การเรียนธรรมะกับครูที่มีชีวิตจึงมีภาษีมากกว่าในแง่นี้ เพราะเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยน ซักถาม ซักซ้อมทำความเข้าใจ ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยในการเรียนและปฏิบัติธรรมะจากการอ่านเพียงอย่างเดียว

ในบทสนทนาเรื่อง เฟดรัส ของเพลโต โสกราตีสได้เสนอเหตุผลให้เฟดรัสฟังว่า การพูดมีน้ำหนักมากกว่าการเขียน เพราะในการพูด ผู้ฟังสามารถซักถามและโต้เถียงกับผู้พูดได้ทันที ทำให้การศึกษาปรัชญามีชีวิต ไม่เหมือนกับการอ่านงานเขียนที่มีนักปรัชญาเขียนเอาไว้ เมื่อมีข้อสงสัยหนังสือก็ไม่สามารถตอบอะไรได้ เพราะเป็นแค่กระดาษกับน้ำหมึก ในทำนองเดียวกันการอ่านธรรมะก็เหมือนกับฟังความอยู่ข้างเดียว ไม่มีการโต้ตอบสนทนา ซึ่งยากมากที่จะเกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ขึ้นมาได้

นอกจากนี้ การเรียนกับครูที่มีชีวิตโดยเฉพาะในการเรียนและการปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ยังมีประโยชน์มากที่สุดตรงที่ว่า ผู้เรียนจะได้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่ได้เรียนและได้ปฏิบัติตามคำสอนนี้มาจนเห็นผล และมองเห็นด้วยตาของตนเองว่า ผลของการปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นเป็นอย่างไรจริงๆ และผลนั้นก็ปรากฏตัวออกมาเป็นรูปธรรมในตัวบุคคลของผู้ที่เป็นครูของเราที่เราศึกษาอยู่ด้วยอย่างใกล้ชิด ในยุคของเรานี้มักมีเรื่องเกิดขึ้นเกี่ยวกับวงการของพระสงฆ์ ที่ทำให้ผู้คนมักเกิดความสงสัยว่าพระที่แท้จะยังเหลืออยู่อีกหรือ คำตอบก็คือว่า มีอยู่อีกมาก เราไม่จำเป็นต้องมีความสามารถในการมองเห็นได้ทันทีว่าใครเป็นพระอรหันต์ ใครไม่ใช่ เพราะมีแต่พระอรหันต์เท่านั้นที่ทำได้เช่นนี้ แต่ที่เรามีก็คือศรัทธาในตัวครูของเรา และจากศรัทธานี้เองที่จะนำไปสู่่ความเชื่อมั่น และการเห็นผลอันเป็นรูปธรรมที่ปรากฏอยู่ในตัวครูของเรา

เมื่อพูดเช่นนี้ คำถามที่เกิดขึ้นทันทีก็คือว่า แล้วเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าพระภิกษุรูปนี้ ที่เราคิดว่าควรจะฝากตัวเป็นศิษย์หรือไม่ มีคุณสมบัติตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น? เรื่องนี้ก็เป็นวงจรกลับไปกลับมา คือหากเราไม่สามารถมองเห็นคุณสมบัติในตัวครู เราก็จะไม่รู้ว่าควรเลือกครูรูปไหนดี แต่ถ้าเราไม่ยอกเลือกเรียนกับครูรูปใดเลย เราก็จะไม่มีโอกาสที่จะเริ่มต้นปฏิบัติธรรมกับครูเป็นๆที่มีชีวิตเลือดเนื้อได้เลย เพื่อทำลายวงจรนี้เราจำเป็นต้องอาศัยความเชื่อมั่นเป็นตัวนำไปก่อน ซึ่งก็คือศรัทธา ในประเพณีพระพุทธศาสนาของทิเบต มีหลักอยู่ว่าครูจะเลือกผู้ที่จะมาเป็นศิษย์ คือไม่ใช่ว่าใครมาขอเรียนวิชาด้วยครูจะรับหมด เรื่องนี้เกิดขึ้นได้ยากมากๆในทิเบต ที่เกิดขึ้นเป็นประจำก็คือว่า ครูจะพิจารณาบุคคลที่จะรับเป็นศิษย์อย่างละเอียด บางทีใช้เวลาเป็นปีๆกว่าจะตัดสินใจ และในทำนองเดียวกันศิษย์ก็จะเลือกผู้ที่จะมาเป็นครูของตนเองด้วย บางทีก็ใช้เวลาเป็นปีๆเช่นเดียวกัน ประโยชน์ของวิธีการแบบนี้ก็คือเป็นการคัดกรองคุณภาพของทั้งผู้ที่จะมาเป็นศิษย์และเป็นอาจารย์

ในบริบทของไทยเราก็ไม่ต่างกันมาก ปัญหาของคนไทยที่สนใจปฏิบัติธรรมก็คือว่า มีทางเลือกให้เลือกเป็นจำนวนมาก แล้วผู้จะเรียนก็มักจะเดินท่องไปสำรวจสำนักต่างๆ เข้าที่นั่นที ที่นี่ที แต่ไม่มีการสร้าง “ความผูกพัน” และ “การตกลงปลงใจ” (commitment) ที่จะศึกษาปฏิบัติกับสำนักใดสำนักหนึ่งอย่างจริงจัง ผลก็คือปฏิบัติธรรมไม่ก้าวหน้าไปไหน สิ่งที่อยากจะแนะนำผู้ปฏิบัติในท้ายที่สุดนี้ก็คือว่า หลังจากที่ได้ศึกษาทางเลือกของสำนักต่างๆมาระยะหนึ่ง ผู้เรียนต้องตัดสินใจเลือกและตกลงปลงใจจะใช้ชีวิตทางธรรมกับสำนักใดสำนักหนึ่งที่ตนเองพิจารณาแล้วเป็นสำนักที่เหมาะกับตนเองที่สุด หากไม่ทำเช่นนี้แล้วโอกาสที่จะปฏิบัติธรรมได้ผล เช่นจากการอ่านด้วยตัวเอง ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

 

หมุนกงล้อธรรม

ผมตั้งใจว่าจะเขียนอะไรเกี่ยวกับวันอาสาฬหบูชาตั้งแต่เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา หลังๆนี่ไม่ค่อยเขียนอะไรเกี่ยวกับธรรมะมากนัก มัวแต่ไปพูดกับเขียนเรื่องอื่นๆ เลยต้องกลับมาที่ธรรมะก่อนที่จะห่างออกไปเรื่อยๆ

ผมจำได้ว่าเคยเขียนเกี่ยวกับวันอาสาฬหบูชามาแล้วในบล๊อกนี้ แต่เนื่องจากเป็นวันสำคัญก็เลยต้องคิดหาหัวข้อใหม่ที่ไม่ซ้ำกับหัวข้อเดิมมาเขียน แต่เราก็คิดได้ว่าหัวข้อธรรมะไม่เคยล้าสมัย เรื่องเดียวกันสามารถเอามาพูดใหม่ได้ตลอด เพราะหัวใจอยู่ที่การทำซ้ำๆ พูดซ้ำๆ จนกว่าจะซึมซับเข้าไปในกระแสเลือดกับในกระดูก หัวข้อธรรมะต่างจากหัวข้อพูดคุยเรื่องอื่นๆตรงนี้แหละ ฟังธรรมต้องฟังซ้ำๆบ่อยๆจนกว่าความหมายของถ้อยคำจะซึมเข้าไปเปลี่ยนแปลงตัวเราจากภายใน

วันอาสาฬหะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรง “หมุนกงล้อธรรม” เป็นครั้งแรก พูดอีกอย่างก็คือเป็นวันเกิดของพระพุทธศาสนา ผมอยากจะมองว่าวันนี้สำคัญกว่าวันวิสาขะเสียด้วยซ้ำ เพราะวันวิสาขะเน้นที่ตัวบุคคลของพระพุทธเจ้าเพียงคนเดียว แต่วันอาสาฬหะเป็นวันเกิดของ “ศาสนา” ใหม่ของโลก อันเป็นศาสนาที่มุ่งเสนอว่าไม่ว่าใครก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นไพร่หรือผู้ดี พราหมณ์หรือศูทร ผู้หญิงหรือผู้ชาย คนรวยหรือคนจน ต่างก็สามารถบรรลุธรรมขั้นสูงสุดได้ทั้งสิ้น เพียงแต่ขอให้เขาปฏิบัติตามคำสอนอย่างเข้าใจและอย่างมีความเพียรเท่านั้น

ลักษณะนี้ทำให้พระพุทธศาสนาแตกต่างจากศาสนาพราหมณ์ที่มีมาแต่โบราณของอินเดียอย่างสิ้นเชิง หลักของคำสอนของศาสนาพราหมณ์อยู่ที่ว่า คนที่จะบรรลุเป้าหมายสูงสุดของศาสนาได้ จะต้องเป็นวรรณะพราหมณ์เท่านั้น เพราะเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตให้อ่านและศึกษาพระเวท แนวคิดพื้นฐานก็คอว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะบรรลุธรรมได้ ต้องเป็นบุคคลที่มีสิทธิพิเศษ สิทธิพิเศษนี้ก็มาจากชาติกำเนิดเป็นหลัก ศาสนาพราหมณ์เชื่อว่าการแบ่งคนออกเป็นวรรณะต่างๆ เป็นพื้นฐานความจริงของโลกและจักรวาล พราหมณ์มีหน้าที่สาธยายพระเวทและประกอบพิธีกรรมเพราะถือกำเนิดมาจากปากของพระพรหม ส่วนวรรณะอื่นๆก็มีหน้าที่อื่นๆในสังคมเพราะถือกำเนิดมาจากอวัยวะส่วนอื่นๆของพระพรหม ความจริงพื้นฐานของจักรวาล (พระพรหม) เป็นตัวกำหนดว่าใครจะบรรลุธรรมหรือไม่บรรลุธรรม โดยที่เจ้าตัวไม่มีบทบาทอะไรแม้แต่น้อย ถึงคุณจะขยันทำความเพียรจนสิ้นใจ ถ้าคุณไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่มีสิทธิจะไปฟังหรือไปจับคัมภีร์พระเวท ก็ขยันไปเท่านั้น ไม่มีประโยชน์อะไร ยิ่งไปกว่านั้นหากคุณขืนไปจับคัมภีร์เข้าทั้งๆที่ไม่มีสิทธิ์ ก็จะเป็นการทำบาปอย่างรุนแรง เทพเจ้าจะไม่ให้อภัยแน่ๆ

เราจึงเห้นว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นการปฏิวัติสังคมอย่างรุนแรง และก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่เหล่าพราหมณ์ต้องปรับตัวสู้กับพระพุทธศาสนามาเป็นเวลายาวนาน จนในที่สุดพระพุทธศาสนาก็สูญสิ้นไปจากอินเดีย แต่ไปเจริญงอกงามในดินแดนแถบอื่นๆแทน สาเหตุที่ผมคิดว่าวันอาสาฬหะน่าจะสำคัญมากกว่าวันวิสาขะก็คือว่า หากพระพุทธเจ้าไม่ทรงสอนสิ่งที่ทรงค้นพบในคืนวันตรัสรู้ โลกก็จะไม่มีพระพุทธศาสนา ก็ไม่รู้ว่าผู้คนจะมืดบอดกันต่อไปอีกกี่ร้อยกี่พันปี เราเป็นหนี้พระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างยิ่งตรงนี้

การสอนพระธรรมมักจะเปรียบกับการหมุนกงล้อธรรม คำสอนแรกของพระพุทธเจ้าก็คือ “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” ก็แปลตรงตัวได้ทำนองว่า “คำสอนว่าด้วยการหมุนกงล้อธรรม” นี่เอง หัวใจของพระสูตรนี้ก็คือหัวใจของคำสอนของพระพุทธศาสนา ได้แก่เรื่องทางสายกลาง อริยสัจสี่ กับมรรคมีองค์แปด ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของอริยสัจสี่ ในระดับต้นๆมักจะสอนกันว่าทางสายกลางได้แก่การละเว้นจากสุดโต่งสองข้าง ได้แก่การทรมานตนเองมากเกินไป กับการบำรุงบำเรอความเพลิดเพลินทางกายมากเกินไป คนที่เพิ่งเริ่มศึกษาก็เลยอาจเข้าใจไปว่า เป็นเรื่องของการแสวงหาทางเดินตรงกลาง เหมือนกับนักไต่ลวดที่พยายามอยู่ตรงกลาง ไม่หล่นไปข้างซ้ายหรือขวา แต่หากเราพิจารณาให้ละเอียดยิ่งขึ้น จะพบว่า การปฏิบัติตามทางสายกลางมีอะไรมากกว่านั้น หลักการไม่ใช่แต่เพียงว่าไม่ทรมานตัวเองมากไป แล้วก็ไม่ตามใจตัวเองมากไป ราวกับว่าต้องเอาสองข้างนี้มาบวกกันแล้วหารสอง (เช่นไม่กินมากไป แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่กินเลย) แต่อยู่ที่ว่าเราเข้าใจหลักการพื้นฐานของคำสอนเรื่องนี้ การไม่ทรมานตัวเองมากไป กับการไม่ตามใจตัวเองมากไป มาจากว่าหากเราทำสุดโต่งทั้งสองข้าง จะเท่ากับว่าเราไปยึดถือหรือไปจับเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วไปยึดว่าสิ่งนั้นมีอยู่จริงๆ หรือการไม่ยึดถืออะไรเลยเพราะเชื่อไปว่าไม่มีอะไรอยู่เลย การทรมานตัวเองก็หมายความว่า เราเชื่อว่าการอดข้าว หรือทรมานตัวเองแบบอื่นๆ เป็นเหตุให้บรรลุธรรมได้ พระพุทธเจ้าทรงทำมามากแล้ว จนเกือบเอาชีวิตไม่รอด ก็เลยพบว่าทางนี้ไม่ใช่ทางที่ถูกต้อง จริงๆแล้วทางนี้ก็คือการไปยึดเอาว่า มีวิธีการหรือมีสิ่งของบางอย่างที่จะนำพาเราไปสู่การพ้นทุกข์ได้ เช่นการอดข้าว แต่จริงๆแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น อีกแนวทางหนึ่งก็คือการบำรุงบำเรอตัวเองจนมากไป ซึ่งพระพุทธเจ้าก็เคยทำมาแล้วเช่นเดียวกัน ตอนยังเป็นเจ้าชายอยู่ในวัง ได้รับการปรนเปรอมากมายจากบรรดาข้าราชบริพาร จนไม่รู้ว่าจะทำอะไรมากกว่านี้ได้อีก ก็ไม่ใช่หนทางพ้นทุกข์เช่นเดียวกัน จุดที่ทรงค้นพบก็อยู่ตรงนี้เอง คือแทนที่จะคิดว่ามีอะไรให้ยึดมั่น หรือไม่มีอะไรเลยแล้วเลยไม่ยึดมั่นอะไรเลย (หรือไปยึดมั่นเอาความไม่มีเข้า) ก็คิดใหม่ว่าสิ่งต่างๆก็เป็นเช่นนั้นของมันเอง แต่สิ่งต่างๆเหล่านั้นต่างก็ขึ้นกับเหตุปัจจัยทั้งสิ้น การไปรับเอาสิ่งเหล่านั้นเข้าไปเต็มๆ หรือการปฏิเสธหันหลังให้สิ่งเหล่านั้นอย่างสิ้นเชิง ต่างก็ไม่ใช่ทางที่ถูกต้องทั้งสิ้น คำสอนเช่นนี้ไม่เคยมีมาก่อนในศาสดาผู้ใด นอกจากพระพุทธเจ้าเท่านั้น

ในพระสูตรมีบอกว่า ทางสายกลางนี้ก็ได้แก่มรรคมีองค์แปดนั่นเอง “มรรค” แปลว่า “เส้นทาง” ก็คือเส้นทางไปสู่ความดับทุกข์ตามอริยสัจสี่ ใครก็ตามที่เดินตามทางที่พระองค์ทรงชี้ไว้ให้ จะถึงเป้าหมายแน่นอน ไม่มีผิดพลาด หน้าที่ของชาวพุทธ (ลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า) ก็คือเดินตามเส้นทางนี้ แต่พระพุทธศาสนาก็มีลักษณะพิเศษอีกอย่างหนึ่ง คือไม่บังคับให้ใครเดินตามทางที่ชี้เอาไว้ ไม่ใช่ว่าใครไม่เดินตามแล้วจะถือเป็นบาปเพราะไปขัดโองการของพระพุทธเจ้าที่ “สั่ง” ให้ผู้คนเดิน อย่างนั้นไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้าแน่นอน ทางมีอยู่แล้ว ใครเห็นว่าสำคัญแก่ชีวิตตน ก็เลือกเดิน ใครยังเห็นว่ายังไม่อยากเดิน ก็เป็นเรื่องของเขา แต่ศาสนาพุทธเป็นศาสนาของคนมีปัญญา คนที่มีปัญญาใคร่ครวญด้วยตนเอง ไม่ช้าไม่นานก็จะเห็นว่า ต้องเดินตามทางนี้เท่านัน ถึงจะบรรลุเป้าหมายสูงสุดของชีวิต

**

ก่อนจบ ก็มีคลิปวิดิโอเพลง “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” สำเนียงอินเดีย เอาไว้ฟังให้ชื่นใจ

อีสเตอร์

เพิ่งนึกได้ว่าวันนี้คือวันอีสเตอร์ ซึ่งเป็นวันที่สำคัญที่สุดในคริตสศาสนา สำคัญกว่าวันคริสตมาสอีก เพราะวันนี้เป็นวันที่พระเยซูฟื้นขึ้นจากความตายหลังจากที่ถูกตรึงกางเขน

ความเชื่อว่าพระเยซูฟื้นจากความตายเป็นความเชื่อที่สำคัญที่สุดสำหรับพี่น้องชาวคริสต์ เพราะเป็นการยืนยันว่าพระเยซูไม่ใช่เพียงแค่มนุษย์ธรรมดา แต่คือพระเจ้าเอง ที่ปรากฏพระองค์มาท่ามกลางพวกเรา พระเยซูทรงลุกขึ้น เปิดประตูหินที่เอามาปิดถ้ำที่เก็บพระศพไว้ แล้วก็ปรากฏพระองค์ให้แก่เหล่าสาวกอยู่เป็นเวลาสี่สิบวัน ก่อนที่จะเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ทั้งร่างกายเพื่อไปสถิตอยู่บนบรรลังก์ข้างๆพระบิดา

ความหมายของอีสเตอร์มองได้หลายระดับ ระดับหนึ่งก็คือการเอาชนะความตาย ความตายเป็นเพียงทางผ่านชั่วขณะเท่านั้น การที่พระเยซูทรงฟื้นขึ้นมาและเสด็จสู่สวรรค์แสดงว่าเราเองก็สามารถเอาชนะความตายได้เช่นกัน ชาวคริสต์เชื่อว่าทุกคนที่ตายไป จะฟื้นขึ้นมาเพื่อฟังคำพิพากษาครั้งสุดท้ายจากพระเจ้า และประวัติศาสตร์ก็จะปิดฉากลง

เราชาวพุทธก็มีวิธีเอาชนะความตายเหมือนกัน คำสอนบทหนึ่งที่เอามาอ้างกันบ่อยๆคือ พระพุทธเจ้าตรัสแก่ชายคนหนึ่งชื่อโมฆราชว่า ผู้ที่ดำรงตนอยู่ในความว่าง และไม่มีการยึดมั่นถือมั่นกับตัวตนใดๆ คนผู้นั้นจะเป็นผู้ที่พระยามัจจุราช “หาไม่พบ” คำๆนี้น่าสนใจมาก พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสว่าผู้ที่บรรลุธรรมแล้ว จะ “เอาชนะ” พระยามัจจุราชได้ ราวกับว่าเผชิญหน้ากับความตายแล้วก็ต่อสู้กัน แล้วก็เอาชนะไปได้ นั่นไม่ใช่วิธีการของพระพุทธเจ้าเลย แต่ตรัสว่า ความตาย “มองหา” ผู้บรรลุธรรมไม่พบ ราวกับว่าผู้บรรลุธรรมนั้น ล่องหนหายตัวได้! (ผมเคยเขียนเรื่องนี้ไว้ค่อนข้างละเอียดในบล๊อกนี้เอง ติดตามย้อนกลับไปอ่านได้ที่นี่)

การที่เรา “หายตัว” ในสายตาของความตายได้ ก็หมายความว่า ไม่ใช่ว่าเราจะหายไปจริงๆ ในบางแง่เราเองยังคงอยู่ แต่พระยามัจจุราชหาไม่พบ เหมือนกับว่าถ้าเรายังดำรงอยู่ในบางแง่ เราจะถูกพระยามัจจุราชพบตัวแน่นอน เช่นหากเรายังมีความเห็นว่านี่เป็นตัวเรา นี่เป็นของเรา เมื่อนั้นความหตายหรือพระยามัจจุราชจะตามตัวเราถูกแน่นอน เพราะทันทีที่เราทำเช่นนั้น ก็คือเราประกาศแก่โลกว่า “นี่คือข้าพเจ้า” แล้วพระยามัจจุราชจะไม่ได้ยิน แล้วตามมาเอาตัวเราไปได้อย่างไร ในทางตรงข้าม หากเราดำรงอยู่ในศูนยตา จะเรียกว่ามีตัวเราก็ไม่ใช่ จะเรียกว่าไม่มีตัวเราก็ไม่ใช่อีก พระยามัจจุราชก็จะไม่รู้ว่าจะคว้าอะไรลงไปในยมโลกที่เป็นตัวเรา นี่แหละคือวิธีชนะความตาย

พระพุทธเจ้ามีกี่พระองค์

คำถามหนึ่งที่มีคนถามญีมาถักปาริมโปเชในการบรรยายของท่านที่บ้านมูลนิธิพันดาราเมื่อวานก็คือว่า ในพระพุทธศาสนาทิเบตมีเรื่องเกี่ยวกับพระอาจารย์ที่บรรลุกลายเป็นพระพุทธเจ้าเป็นจำนวนมาก แล้วพระอาจารย์ที่บรรลุเหล่านี้จะเหมือนหรือแตกต่างอย่างไรกับพระพุทธเจ้าศากยมุนี คำถามนี้เป็นคำถามที่น่าสนใจ ก็เลยคิดว่าจะเอามาพูดในรายละเอียดในที่นี้

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจว่า การเป็นพระพุทธเจ้านั้นไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีร่างกายร่างนี้หรือเป็นคนๆนี้เท่านั้น เรื่องนี้สำคัญอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าเองตรัสไว้ว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา” ซึ่งก็หมายความว่าการเป็นพระพุทธเจ้านั้นไม่ได้อยู่ที่การมีร่างกายร่างนี้ มีหน้าตาแบบนี้ มีชาติกำเนิดแบบนี้ สวมใส่จีวรแบบนี้ พวกนี้ไม่เกี่ยวข้องแต่ประการใด ใครที่คิดว่าเกี่ยวก็หมายความว่ายังไม่เข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าดีพอ

แล้ว “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา” หมายความว่าอย่างไรกันแน่? การเห็นธรรมคือการเข้าใจคำสอนอย่างแจ่มแจ้ง ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ เดินตามเส้นทางของศีล สมาธิ ปัญญา พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า ทำตามแบบที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้เราทำ คนที่ทำเช่นนี้ได้ชื่อว่า “เห็นพระพุทธเจ้า” เพราะว่าเขามีจิตที่น้อมนำไปสุ่การหลุดพ้นจากทุกข์ มีจิตที่เปี่ยมไปด้วยความเมตตากรุณาและปัญญา

แล้วเหตุใดคนที่เห็นเช่นนี้จึเรียกว่าเห็นพระพุทธเจ้า? ก็เพราะว่าความเป็นพระพุทธเจ้านั้นไม่ได้อยุ่ที่รูปลักษณ์ภายนอก ไม่เช่นนั้นเวลาเรากราบพระพุทธรูป เราก็กำลังกราบก้อนอิฐก้อนปูน หรือก้อนทองเหลืองเท่านั้นเอง แต่จริงๆแล้วไม่ใช่ เพราะเวลาเรากราบพระพุทธรูป ใจของเราน้อมนำไปที่คุณสมบัติของการเป็นพระพุทธเจ้า เมื่อเรามองพระพุทธรูป เราเห็นมากไปกว่าก้อนทองเหลืองหรือก้อนปูน แต่เราเห็นตัวแทนของคุณสมบัติที่ทำให้พระพุทธเจ้าเป็นพระพุทธเจ้า นี่ต่างหากที่พระพุทธองค์ทรงอยากให้เราเห็น ไม่ใช่มาเห็นรูปร่างภายนอกของท่านเอง

เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครก็ตามที่เข้าถึงคุณสมบัติเหล่านี้อย่างเต็มที่ ก็ย่อมไม่ต่างจากพระพุทธเจ้าเช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้ากับพระอรหันต์จึงไม่ต่างกัน เพราะต่างก็บรรลุถึงคุณสมบัติข้อนี้เหมือนกัน เป็นไปไม่ได้ที่พระพุทธเจ้าที่มีคุณสมบัติอะไรที่พระอรหันต์ไม่มี เพราะคุณสมบัติของการหลุดพ้นเป็นของสาธารณะ ไม่ใช่สมบัติส่วนตัวของพระพุทธเจ้า เมื่อเป็นสาธารณะ ทุกคนก็ย่อมเข้าถึงและเอามาเป็นของตัวได้เหมือนกันหมดทั้งสิ้น

เมื่อเป็นอย่างนี้ แล้วตกลงพระพุทธเจ้ามีกี่พระองค์ เราต้องคอยระวังตัวอย่าให้ภาษามาหลอกลวงเราได้ การที่เราถูกภาษาหลอกเอาแสดงว่าเรายังอยู่ภายใต้อวิชชาอยู่ ที่สำคัญก็คือว่า เราคิดไปว่าภาษาหรือถ้อยคำเป็นอย่างไร ความเป็นจริงต้องเป็นอย่างนั้น ซึ่งจริงๆแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย ภาษามักปรากฏตัวออกมาเป็นรูปประโยค ซึ่งต้องประกอบด้วยภาคประธานกับภาคแสดง หากเราไม่ระวังตัว เราก็คิดไปว่า โลกภายนอกนั้นก็แบ่งตัวออกเป็น “ภาคประธาน” กับ “ภาคแสดง” ไปด้วย หรือตามที่อาริสโตเติล (ซึ่งเป็นตัวอย่างอันดีของการคิดตามภาษา) บอกว่า สรรพสิ่งประกอบไปด้วย “องค์ประธาน” หรือ “แก่นสารสาระ” (substance) กับ “คุณสมบัติ” (property) ซึ่งจริงๆแล้ว ทั้งหมดนี้เป็นเพียงสิ่งที่เราสมมติปรุงแต่งขึ้นทั้งสิ้น ไม่ได้มีรากฐานอยู่บนความเป็นจริงที่แท้แต่ประการใด ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เรากำหนดขึ้นเป็น “องค์ประธาน” นั้น ก็ต้องตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์ คือต้องเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ไม่มีสาระประจำใดๆที่จะทำให้กำหนดได้ว่าเป็นสิ่งนี้จริงๆไม่ใช่สิ่งนั้น ซึ่งเรื่องนี้ขัดแย้งกับการคิดแบบอาริสโตเติลโดยตรง

เรื่องการที่ภาษามาหลอกลวงเรากับเรื่องพระพุทธเจ้ามีกี่พระองค์ มาเกี่ยวกันก็เพราะว่าภาษามักบอกเราว่า พระพุทธเจ้าเป็นศาสดาของศาสนาพุทธ หรือพระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนสรรพสัตว์ ทำให้เกิดภาพว่าผู้สอนก็สิ่งหนึ่ง ผู้ถูกสอนก็อีกสิ่งหนึ่ง แต่ในความเป็นจริงที่แท้นั้นผู้สอนก็ไม่มี ผู้ถูกสอนก็ไม่มี การคิดไปว่ามีผู้สอนกับผู้ถูกสอนก็มาจากการอุปโลกน์ความเป็นจริงโดยภาษาเท่านั้น คือเมื่อมีคำว่า “ผู้สอน” ก็เกิดความคิดว่ามีสิ่งหนึ่งที่เป็นผู้สอน ซึ่งก็ย่อมต่างจากผู้ถูกสอน ผลก็คือการคิดแบบแยกแยะนี้ไปขัดกับความเข้าใจที่ว่าคุณสมบัติของการเป็นพระพุทธเจ้าหรือการบรรลุธรรมมีเหมือนกันทั้งในพระพุทธเจ้าและในพระอรหันตสาวก

แล้วตกลงมีพระพุทธเจ้ากี่พระองค์ คำตอบคือมันขึ้นกับเหตุปัจจัย เหตุปัจจัยเป็นแบบหนึ่ง เช่นต้องการจะเน้นเรื่องศาสนาของพระพุทธศาสนา หรือเจ้าชายสิทธัตถะที่บำเพ็ญเพียรจนบรรลุธรรมแล้วสังสอนสรรพสัตว์ พระพุทธเจ้าก็มีหนึ่งเดียว แต่นั่นไม่ใช่คำตอบที่น่าสนใจ เพราะเรากำลังมุ่งไปที่ตัวบุคคลหรือร่างกายเนื้อหนัง ซึ่งไม่ใช่เป้าหมายของพระพุทธองค์ในการสั่งสอนเราเลย เราควรมุ่งไปที่คุณลักษณะของความเป็นพระพุทธเจ้าหรือสภาวธรรมที่เป็นอยู่เอง สภาวะดังกล่าวนี้เป็นไปไม่ได้ที่จะมีมากกว่าหนึ่งหรือน้อยกว่าหนึ่ง เพราะทั้งหมดตั้งอยู่บนการไม่แบ่งแยกออกเป็นสอง ซึ่งได้บอกไปแล้วว่ามาจากการถูกภาษาหลอกเอา

หรือมองอีกแง่หนึ่ง จำนวนพระพุทธเจ้าในจักรวาลนี้มีนับไม่ถ้วน มีมากมายมหาศาลสุดจะนับได้ มีอยู่ในทุกอณูของอากาศธาตุ ทั้งนี้ก็เพราะว่าแต่ละอณูของอากาศธาตุนั้นมีความแตกต่างกัน และเป็นจักรวาลในตัวมันเองทั้งหมด ดังนั้นเนื่องจากในแต่ละจักรวาลจะมีพระพุทธเจ้าประจำอยู่อย่างน้อยหนึ่งพระองค์ จำนวนของพระพุทธเจ้าจึงมากมายมหาศาล สุดจะสรุปออกมาเป็นตัวเลขได้

โดนกล้องสูบใบยาเขกหัว

ยามาโอกะ เตทชูเป็นนักเรียนเซ็นรุ่นหนุ่มคนหนึ่ง เขาเดินทางไปหาอาจารย์คนแล้วคนเล่า วันหนึ่งเขาเดินทางไปหาท่านโดกุออนแห่งโชโกกุ

ยามาโอกะอยากจะแสดงให้คนอื่นเห็นว่าตนเองบรรลุธรรมแล้ว จึงเอ่ยแก่ท่านโดกุออนว่า “จิต พระพุทธเจ้า กับสัตว์โลกทั้งหลายต่างก็เป็นของว่าง แก่นแท้ของสรรพสิ่งคือความว่าง ไม่มีการบรรลุ ไม่มีความหลง ไม่มีผู้ทรงศีล ไม่มีความกึ่งดิบกึ่งดี ไม่มีการให้ ไม่มีการรับ”

ท่านโดกุออนกำลังสูบใบยาอยู่เงียบๆ ท่านไม่ได้กล่าวอะไร แต่ทันใดนั้นก็เอากล้องสูบใบยาตีเข้าที่ศีรษะของยามาโอกะ ชายหนุ่มถึงกับโกรธขึ้นมาทันควัน

ท่านโดกุออนถามขึ้นว่า “หากทุกอย่างเป็นของว่างจริงแล้ว ไอ้ความโกรธนี่มันมาจากไหน?”

จาก #zenjournalism https://www.facebook.com/zenjournalist

 

อาสาฬหบูชาภาวนา ปณิธานเข้าพรรษา (กำหนดการปรับปรุง)

กิจกรรมบำเพ็ญบุญกุศลในวันพระใหญ่

“อาสาฬหบูชาภาวนา ปณิธานเข้าพรรษา”

ถวายดวงประทีปเป็นพุทธบูชา บ่มเพาะความกรุณาในหัวใจ

สร้างความรักความผูกพันในครอบครัว

วันที่ 15-16 กรกฎาคม 2554

ศูนย์ขทิวัน หัวหิน

*ไม่เก็บค่าลงทะเบียน*

มูลนิธิ พันดาราขอเชิญพุทธศาสนิกชน กัลยาณมิตรสายใยพันดารา พร้อมคุณพ่อคุณแม่และครอบครัว ร่วมบำเพ็ญบุญกุศลและถวายดวงประทีปเป็นพุทธบูชาในวันพระใหญ่ ร่วมกิจกรรม “อาสาฬหบูชาภาวนา ปณิธานเข้าพรรษา” 15-16 กรกฎาคม 2554 ณ ศูนย์ขทิร วัน หัวหิน กิจกรรมประกอบด้วย กราบอัษฎางคประดิษฐ์ อุทิศกาย วาจา ใจเพื่อพระรัตนตรัย ภาวนาเพื่อสร้างสันติสุขในจิตใจ ฝึกสมาธิถึงพระโพธิสัตว์ตารา เสวนาธรรม ตั้งปณิธานเข้าพรรษา ถวายดวงประทีป ณ บริเวณก่อสร้างพระศานติตารามหาสถูป พุทธสถานแห่งความรักความกรุณาอุทิศแด่สันติภาพของโลก นำภาวนาโดย รศ. ดร. กฤษดาวรรณ หงศ์ลดารมภ์ อดีตอาจารย์จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้อุทิศตนเพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา

ทางมูลนิธิมีความ ยินดีบริการที่พักในบรรยากาศธรรมชาติและอาหารมังสวิรัติ ผู้ร่วมภาวนาสามารถนำอาหารมังสวิรัติ ผลไม้ เครื่องดื่มมารับประทานร่วมกัน หรือร่วมเป็นเจ้าภาพถวายดวงประทีปตามจิตศรัทธา

ผู้สนใจกรุณาแจ้งความจำนงที่ 1000tara@mail.com โทร 087-829-9387 ภายในวันที่ 10 กรกฎาคม 2554

กำหนดการ (ปรับปรุงล่าสุด)

วันที่ 15 กรกฎาคม 2554 (วันอาสาฬหบูชา)

08.00 น. พบกันที่บ้านมูลนิธิพันดารา ลาดพร้าว ซอย 11

08.30 น. ออกเดินทางไปศูนย์ขทิรวัน

11.30 น. ถึงศูนย์ขทิรวัน รับประทานอาหารกลางวันแบบเรียบง่ายร่วมกัน

13.00 น. ทำความรู้จัก เล่าเรื่องราวเกร็ดต่างๆ ของพุทธวัชรยานและวัฒนธรรมทิเบต เรื่องราวพระโพธิสัตว์ พร้อมจิบชาโบราณจากที่ราบสูงทิเบต

15.00 น. สักการะพระรัตนตรัยร่วมกัน กราบอัษฎางคประดิษฐ์ ภาวนาเพื่อสันติสุขในจิตใจ

16.30 น. ปณิธานเข้าพรรษา ปณิธานโพธิสัตว์

17.30 น. รับประทานอาหารเย็น

19.00 น. สวดมนตร์เพื่อสันติภาพของโลกและถวายดวงประทีปในคืนวันอาสาฬหะ

20.30 น. พัก ดื่มน้ำปานะ

20.45 น. พิธีอุทิศให้แก่ผู้ล่วงลับ

21.00 น. สนทนาธรรมกับอาจารย์กฤษดาวรรณและอาจารย์เยินเต็น

22.00 น. เข้านอน

วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 (วันเข้าพรรษา)

05.00 น. ตื่นนอน

05.30 น. กราบอัษฎางคประดิษฐ์ ทำสมาธิ และทำวัตรเช้า

07.00 น. เดินภาวนา

08.00 น. รับประทานอาหารเช้า

09.00 น. ฝึกสมาธิถึงพระโพธิสัตว์ตาราและนำธรรมะของพระองค์มาใช้ในชีวิตประจำวัน

11.30 น. รับประทานอาหารกลางวัน

13.00 น. เดินทางกลับโดยสวัสดิภาพ

ศูนย์ ขทิรวัน : ธรรมาศรมในพระพุทธศาสนา เป็นแหล่งเรียนรู้พุทธศิลป์และปรัชญาทิเบตหิมาลัย และแหล่งพักพิงใจในบรรยากาศธรรมชาติที่เต็มไปด้วยขุนเขา สายน้ำ และต้นไม้นานาพรรณ

สถานที่พัก : ศูนย์ขทิรวันจะบริการที่พักเรียบง่ายให้แก่ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งแบบเต้นท์ เดี่ยว และเต้นท์ครอบครัว (ในกรณีที่ฝนไม่ตก) ที่พักในศาลาปฏิบัติธรรมวสุตาราและเตวาวัฒนาซึ่งมีมุ้งลวดและกระจกปิดอย่าง ดี และห้องพักในเรือนทศบารมี

อาหาร : ทางศูนย์ขทิรวัน จะบริการอาหารทุกมื้อและเครื่องดื่มร้อนและเย็น

พุทธวัชรยานกับธรรมะสามระดับ

การประชุม/เสวนาเรื่อง “พุทธวัชรยานกับธรรมะสามระดับ”

วันเสาร์ที่ 6 สิงหาคม 2554 เวลา 9.00-16.00 น.

ห้อง 105 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จัดโดยมูลนิธิพันดาราและศูนย์จริยธรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

หลักการและเหตุผล

การประชุม “พุทธวัชรยานกับธรรมะสามระดับ” จัดขึ้นเพื่อเสวนาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาวัชรยาน อันเป็นนิกายในพระพุทธศาสนาที่พัฒนาขึ้นหลังสุด และยังมีข้อสงสัยเป็นอันมากในหมู่ชาวพุทธไทยว่านิกายนี้เป็นอย่างไร เหมือนหรือแตกต่างกับพระพุทธศาสนาเถรวาทอย่างไร นอกจากนี้การประชุมดังกล่าวก็ยังเป็นโอกาสที่สำนักพิมพ์มูลนิธิพันดารา จะทำการเปิดตัวหนังสือเล่มใหม่ ได้แก่ การเห็นทางธรรมสามระดับ ซึ่งจัดจำหน่ายโดยศูนย์หนังสือแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การเห็นทางธรรมสามระดับ เแปลมาจากคำสอนของพระอาจารย์เตชุง ริมโปเช ซึ่งเป็นพระอาจารย์องค์สำคัญในพระพุทธศาสนาทิเบตนิกายสาเกียปะ ซึ่งท่านได้สอนและให้อรรถาธิบายคำสอนในคัมภีร์ “การเห็นทั้งสาม” อันเป็นคำสอนหลักอย่างหนึ่งในพระพุทธศาสนาทิเบตที่เรียกว่า “ลัมเดร” หรือคำสอนว่าด้วยมรรคและผล เนื้อหาในคำสอนนี้ประกอบด้วยเส้นทางการปฏิบัติธรรมอย่างครบถ้วน เริ่มตั้งแต่การสร้างแรงจูงใจในการเริ่มปฏิบัติธรรม การพิจารณาว่าชีวิตมนุษย์นี้มีค่ายิ่งนัก การมองเห็นทุกข์ ภพภูมิต่างๆของสัตว์โลกในสังสารวัฏ การละวางจากสังสารวัฏ รวมไปถึงการตั้งปณิธานโพธิจิต หรือการตั้งจิตอธิษฐานเป็นพระพุทธเจ้า เพื่อบำเพ็ญประโยชน์สูงสุดให้แก่สรรพสัตว์ โพธิจิตอธิษฐาน โพธิจิตปฏิบัติ บารมีหกประการของพระโพธิสัตว์ การแลกเปลี่ยนตนเองกับสัตว์โลกอื่นๆ การพิจารณาศูนยตาหรือความว่าง การปฏิบัติสมาธิแบบสมถะและแบบวิปัสสนา

“การเห็นทั้งสาม” ในหนังสือเล่มนี้ได้แก่การรับรู้หรือการมองโลกเป็นสามระดับ ตามลำดับขั้นของการพัฒนาทางธรรมของผู้ปฏิบัติ เริ่มตั้งแต่การเห็นที่ไม่บริสุทธิ์ อันเป็นการเห็นโลกตามธรรมดาของปุถุชนทั่วไป ต่อมาก็เป็นการเห็นของผู้กำลังอยู่ในระหว่างการปฏิบัติ และสุดท้ายได้แก่การเห็นอย่างบริบูรณ์ของผู้ที่เข้าถึงพระสัมมาสัมโพธิญาณ หรือการรู้แจ้งเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เนื้อหาทั้งหมดในหนังสือเล่มนี้เป็นส่วนสำคัญของพระพุทธศาสนาทั้งเถรวาท มหายานและวัชรยาน จึงมีสำคัญอย่างยิ่งต่อการเข้าใจว่าพระพุทธศาสนาวัชรยานเป็นอย่างไรด้วย

การประชุมประกอบด้วยการเสวนาโดยนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิรวมทั้งผู้แปลหนังสือเล่มนี้ รวมทั้งการบรรยายเกี่ยวกับความตายและการเกิดใหม่โดย รศ. ดร. กฤษดาวรรณ หงศ์ลดารมภ์ ซึ่งเรื่องความตายกับการเกิดใหม่นี้ก็เป็นหัวข้อในพระพุทธศาสนาวัชรยานของทิเบตที่คนไทยให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง

การประชุมนี้ไม่เก็บค่าลงทะเบียนแต่อย่างใด แต่กรุณาแจ้งความจำนงล่วงหน้าที่ 1000tara@gmail.com

 

กำหนดการ

วันเสาร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2554

8.30 น. ลงทะเบียน

9.00 น. พิธีเปิด

9.15 น. ทำความรู้จักพุทธวัชรยาน

รศ. ดร. กฤษดาวรรณ หงศ์ลดารมภ์ (ผู้เชี่ยวชาญด้านทิเบตและพุทธวัชรยาน)

10.00 น. พักรับประทานอาหารว่าง

10.30 น. เสวนาเรื่อง “ธรรมะสามระดับ”

• ผศ. ดร. ประพจน์ อัศววิรุฬหการ (คณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์

มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านพระพุทธศาสนามหายาน)

• อ. สมฤทธิ์ ลือชัย (พิธีกรรายการธรรมในใจและอาจารย์พิเศษด้านอุษาคเนย์)

• รศ. ดร. โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ (อาจารย์ปรัชญา ผู้แปลหนังสือการเห็นทางธรรม

สามระดับ)

12.00 น. พักรับประทานอาหารกลางวัน

13.00 น. ภาพยนตร์ “ชีวิตและการละสังขารของลามะทิเบต”

14.30 น. พักรับประทานอาหารว่าง

15.00 น. เสวนาเรื่อง “การละสังขาร การเกิดใหม่”

นำเสวนาโดย รศ.ดร. กฤษดาวรรณ หงศ์ลดารมภ์

16.30 น. ปิดประชุม

“การเห็นทางธรรมสามระดับ”

หนังสือเล่มใหม่ของสำนักพิมพ์มูลนิธิพันดารา เพิ่งออกจำหน่ายเร็วๆนี้ คือ “การเห็นทางธรรมสามระดับ” ของเตชุงริมโปเช การเห็นทางธรรมสามระดับหมายถึงสามระดับของการรับรู้ทางธรรม ประกอบด้วยการเห็นอันไม่บริสุทธิ์ของผู้ที่ยังเป็นปุถุชน การเห็นของผู้ปฏิบัติธรรม และการเห็นอันบริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้า หนังสือเล่มนี้แปลจาก The Three Levels of Spiritual Perception พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Wisdom Publications สหรัฐอเมริกา

การเห็นสามระดับนี้หมายถึงลำดับขั้นของการพัฒนาทางจิตวิญญาณ เริ่มตั้งแต่ผู้ที่ยังไม่มีการพัฒนาอะไรเลย มาถึงผู้ที่กำลังพัฒนาฝึกฝนตัวเอง จนท้ายที่สุดจบที่ผลลัพธ์ของการฝึกฝน ซึ่งได้แก่การบรรลุเป็นพระพุทธเจ้า การเห็นระดับแรกเป็นการเห็นของบุคคลธรรมดาๆทั่วๆไป ที่มักเห็นอะไรที่เป็นไปตามอำนาจของกิเลสกับการปรุงแต่งต่างๆ คนธรรมดาๆที่ยังไม่ได้ฝึกฝนทางธรรมจะเห็นสิ่งรอบตัวในแบบที่เจือไปด้วยราคะ โทสะ โมหะ อยู่ตลอด ซึ่งทำให้คนธรรมดานี้ตกอยู่ใต้อำนาจของความทุกข์ และต้องว่ายเวียนอยู่ในสังสารวัฏอย่างไม่จบสิ้น ตัวอย่างของการเห็นในระดับนี้ก็เช่น เราเห็นรถใหม่ในงานแสดงรถแล้วเกิดความอยากได้ ความอยากได้นี้เรียกว่า “โลภะ” เป็นกิเลสอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นต้นตอของความทุกข์ หรือเราเห็นอะไรที่เราไม่ชอบ เกิดหงุดหงิดขึ้นมาจากการเห็นนั้น ก็เป็นเรื่องของการเห็นทีไม่บริสุทธิ์เช่นกัน สาเหตุหลักของความทุกข์ที่ทำให้ผู้คนเจ็บปวดมาเป็นระยะเวลายาวนานหลายภพหลายชาติ ก็อยู่ที่การเห็นอันไม่บริสุทธิ์นี่เอง เป้าหมายของการฝึกฝนตามคำสอนของพระพุทธเจ้าก็คือว่า ให้เราฝึกตัวเองให้พ้นจากสถานะอันไม่น่าพึงพอใจนี้

ในหนังสือ “การเห็นทางธรรม” เรื่องของการเห็นระดับแรก อันเป็นการเห็นที่ไม่บริสุทธิ์ของปุถุชนนี้ ก็มุ่งที่จะสอนให้คนธรรมดาๆทั่วๆไปเริ่มมองเห็นประโยชน์ของการเดินทางบนเส้นทางธรรม การเริ่มเดินทางนี้ก็เริ่มต้นที่การมองเห็นและเข้าใจว่าความทุกข์คืออะไร รู้ว่าไม่น่าพอใจอย่างไร เมื่อเกิดการรับรู้เช่นนี้แล้ว ก็จะเกิดความเบื่อหน่ายในสังสารวัฏ คิดว่าจะต้องมีอะไรที่มีความหมายมากกว่านี้ ซึ่งก็เป็นเป้าหมายของการสั่งสอนพระธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นอกจากนี้เรื้องต่างๆในหัวข้อการเห็นระดับแรกนี้ ก็ยังมีเรื่องกฎแห่งกรรม ผลร้ายของการปฏิบัติกรรมอันเป็นอกุศล ผลดีของการปฏิบัติกรรมอันเป็นกุศล ภพภูมิต่างๆ ความไม่เที่ยงของสิ่งต่างๆ ความแน่นอนของความตาย ความยากลำบากของการเกิดเป็นมนุษย์ ความไร้สาระของโลกของปุถุชนหรือสังสารวัฏ จุดมุ่งหมายของการสอนเกี่ยวกับการเห็นอันไม่บริสุทธิ์ ก็คือให้ผู้เรียนมองเห็นความไร้สาระของโลกที่เป็นอยู่ ที่คนทั่วไปติดข้องอยู่ เกิดความเบื่อหน่ายในความไร้สาระนี้ และให้ตระหนักรู้ว่าทางเลือกที่ดีกว่ามีจริง และสามารถไปถึงได้ และการไปถึงนั้นต้องทำอย่างไร

การเห็นระดับที่สองเรียกว่า “การเห็นเชิงประสบการณ์” ซึ่งประสบการณ์ในที่นี้หมายถึงประสบการณ์ทางธรรมของผู้ที่กำลังฝึกฝนตนเองบนเส้นทางของธรรมะ เราอาจเรียกการเห็นระดับที่สองนี้ได้ว่า เป็นการเห็นในขั้นตอนเปลี่ยนผ่านจากการเป็นปุถุชนไปสู่ผู้บรรลุธรรมเป็นพระพุทธเจ้า เนื่องจากคำสอนเกี่ยวกับการเห็นทางธรรมสามระดับนี้เป็นคำสอนในพระพุทธศาสนามหายาน เป้าหมายของการปฏิบัติธรรมจึงไม่ใช่แค่แสวงหาการหลุดพ้นส่วนตัว แต่อยู่ที่พัฒนาโพธิจิต อันเป็นจิตที่มุ่งมั่นเข้าสู่การตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้า เพื่อช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้พ้นจากกองทุกข์ ผู้ที่เดินตามเส้นทางแห่งโพธิจิตนี้ก็ได้ชื่อว่าเป็นพระโพธิสัตว์ ดังนั้นผู้ที่มีการเห็นในระดับที่สองนี้ จึงก้าวข้ามระดับของการเป็นปุถุชนไปแล้ว เนื่องจากเขาตระหนักรู้แก่ใจอย่างลึกซึ้งว่าสังสารวัฏเต็มไปด้วยความทุกข์ จึงต้องฝึกฝนตัวเองเพื่อให้ตัวเองพ้นจากความทุกข์นั้น รวมทั้งพัฒนาความสามารถที่จะช่วยเหลือสัตว์โลกให้พ้นจากทุกข์นี้ด้วย เรื่องนี้ก็เหมือนกับคนที่ “ตาสว่าง” สามารถมองเห็นอะไรได้อย่างชัดเจน จะมีความสงสารเพื่อนร่วมโลกที่ยังมองไม่เห็นอย่างที่ตัวเองเห็น มีสายตามืดบอดว่ายสะเปะสะปะไม่รู้ทิศทาง จึงทำทุกวิถีทางที่จะช่วยให้เพื่อนๆมองเห็นได้แบบเดียวกับตนเอง ด้วยเหตุนี้หัวข้อต่างๆในระดับของการเห็นเชิงประสบการณ์นี้ จึงเป็นเรื่องโพธิจิตเป็นหลัก

โพธิจิตแบ่งออกได้เป็นหลายประเภท หากแบ่งตามความตั้งใจของผู้ปฏิบัติ ก็แบ่งได้เป็น “โพธิจิตอธิษฐาน” กับ “โพธิสิตปฏิบัติ” อย่างแรกเป็นความตั้งใจจริงที่จะเลือกเดินทางบนเส้นทางของพระโพธิสัตว์ เนื่องจากรู้แล้วว่ามีแต่การบรรลุเป็นพระพุทธเจ้าในท้ายที่สุดเท่านั้น ที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้พ้นจากทุกข์ได้อย่างสมบูรณ์ ส่วนอย่างหลังเป็นการลงมือเดินบนเส้นทางนี้จริงๆหลังจากที่มีโพธิจิตแบบแรกแล้ว แต่หากแบ่งโพธิจิตออกตามลักษณะของความเป็นจริง ก็แบ่งได้เป็น “โพธิจิตสมมติ” กับ “โพธิจิตปรมัตถ์” อย่างแรกเป็นโพธิจิตที่ตั้งอยู่บนความจริงแบบสมมติ ซึ่งได้แก่ความจริงที่เป็นไปตามการปรุงแต่งต่างๆ ส่วนอย่างหลังเป็นโพธิจิตที่ตั้งอยู่บนความจริงแบบปรมัตถ์ที่เป็นอยู่จริงๆ การปฏิบัติในขั้นของโพธิจิตสมมติ ประกอบด้วยการบ่มเพาะความเมตตากรุณา การพิจารณาว่าตัวเองเสมอเหมือนกับสัตว์โลกอื่นๆทุกอย่าง การแลกเปลี่ยนตนเองกับสัตว์โลก ส่วนการปฏิบัติในขั้นตอนของโพธิจิตปรมัตถ์นั้นประกอบด้วยการฝึกสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา ทั้งหมดนี้เป็นขั้นตอนต่างๆของการปฏิบัติในระดับของการเห็นขั้นที่สอง เป้าหมายของการปฏิบัติตามการเห็นขั้นที่สอง ได้แก่การบรรลุถึงระดับของการเห็นขั้นที่สาม อันเป็นการเห็นอันบริสุทธิ์ของผู้บรรลุธรรมเป็นพระพุทธเจ้า

กล่าวโดยสรุป หนังสือเล่มนี้ได้รวบรวมคำสอนทั้งหมดเกี่ยวกับการพัฒนาฝึกฝนตนเอง จากผู้ที่ไม่มีอะไร เป็นปุถุชนเต็มที่ จนถึงการบรรลุเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เกี่ยวกับพระอาจารย์เตชุงริมโปเช

พระอาจารย์เตชุงริมโปเช (Deshung Rinpoche) เป็นพระอาจารย์ที่สำคัญมากที่สุดรูปหนึ่งในพระพุทธศาสนาทิเบต  ท่านเป็นพระอาจารย์ในสายสาเกียปะ มีชีวิตอยู่ในระหว่างปี ค.ศ. 1906 ถึงปี 1987 ท่านเป็นพระภิกษุที่คงแก่เรียนมาก และเป็นที่รู้จักนับถือกันอย่างกว้างขวางว่าเป็นพระภิกษุที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบมากๆรูปหนึ่ง

รูปหน้าปก

รูปหน้าปกของหนังสือเล่มนี้ เป็นรูปของพระมหาสิทธิวิรูปะกำลังหยุดดวงอาทิตย์ วาดโดยคุณอธิพงศ์ ภาดานุพงศ์ พระมหาสิทธะวิรูปะเป็นพระอาจารย์ในมหาวิทยาลัยนาลันทาในอินเดียในอดีต ท่านเป็นต้นรากของคำสอนที่พัฒนามาเป็น “การเห็นทางธรรมสามระดับ” นี้ ซึ่งเรียกในภาษาทิเบตว่า “ล้มเดร” เรื่องราวชีวิตของท่าน ตลอดจนเหตุว่าทำไมท่านจึงหยุดดวงอาทิตย์ได้ และหยุดไปเพราะเหตุใด มีอยู่ในหนังสือแล้ว

หนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งในชุด “คำสอนจากมหาวิทยาลัยนาลัทา” ของสำนักพิมพ์มูลนิธิพันดารา

 

บทสวดเพื่อเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ในชีวิตให้ส่งผลดีแก่การปฏิบัติธรรม

โดยภิกษุเกียลเซทกเมซังโป

ขอนอบน้อมแด่พระอาจารย์

ร่างกายอันเป็นมายาอันข้าพเจ้าถือครองอยู่ เช่นเดียวกับที่ผู้อื่นถือครองร่างของเขาอยู่นี้
หากต้องเจ็บป่วยลงไป ก็ขอให้เป็นเช่นนั้น ข้าพเจ้าจะปิติยินดี
เนื่องจากจะได้ชำระล้างบาปกรรมที่ได้สั่งสมมาแต่อดีต
การปฏิบัติธรรมในรูปแบบที่หลากหลาย
ก็เป็นไปเพื่อชำระล้างกิเลสทั้งสองนี้ให้บริสุทธิ์

หากข้าพเจ้ามีสุขภาพดี ก็ขอให้เป็นเช่นนั้นเถิด เมื่อข้าพเจ้าปลอดจากโรคภัย ก็จะปิติยินดี
เมื่อกายกับใจอยู่ดีมีความสบาย
การปฏิบัติธรรมก็จะก้าวหน้าและเข้มแข็งขึ้น
การทำให้ชาติที่เกิดมาเป็นมนุษย์นี้เกิดความหมายขึ้นมา
ก็คือการอุทิศร่างกาย คำพูดและจิตใจแก่การปฏิบัติกรรมอันเป็นกุศล

หากข้าพเจ้าเผชิญกับความยากไร้ ก็ขอให้เป็นเช่นนั้นเถิด ข้าพเจ้าจะปิติยินดี
ข้าพเจ้าจะปราศจากสิ่งใดที่จะต้องมาคอยปกป้องดูแล และจะไม่มีสิ่งใดให้ต้องสูญเสียไป
การทะเลาะวิวาทหรือการขัดแย้งใดๆ
ล้วนแล้วแต่เกิดจากความโลภอยากได้ทรัพย์สมบัติ นี่เป็นของแน่นอน

หากข้าพเจ้ามีทรัพย์สมบัติ ก็ขอให้เป็นเช่นนั้นเถิด ข้าพเจ้าจะปิติยินดีในทรัพย์สมบัติ
หากข้าพเจ้าจะเพิ่มพูนบุญบารมี การมีทรัพย์สมบัตินี้ก็เพียงพอแล้ว
ไม่ว่าประโยชน์หรือสุขใดๆที่จะเกิดขึ้นในบัดนี้และในกาลข้างหน้า
ต่างก็เกิดจากบุญกุศลที่ข้าพเจ้าได้สั่งสมมา นี่เป็นของแน่นอน

หากข้าพเจ้าต้องตายไปในเวลาอันใกล้ ก็ขอให้เป็นเช่นนั้นเถิด ข้าพเจ้าจะปิติยินดี
เมื่อปราศจากสถานการณ์อันเป็นอกุศลที่มาแทรกแซง
รวมทั้งเมื่อได้รับแรงหนุนจากวิบากอันเป็นกุศลที่ได้สั่งสมมา
ข้าพเจ้าก็จะตรงแน่วไปบนเส้นทางที่แท้จริงและไม่ผิดพลาด

หากข้าพเจ้ามีชีวิตยืนยาว ก็ขอให้เป็นเช่นนั้น เมื่อข้าพเจ้าดำรงชีวิตอยู่ ก็จะปิติยินดี
ทันทีที่พืชผลแห่งการบรรลุธรรมได้ปลูกไปแล้ว
ตราบเท่าที่แดดยังออกและฝนยังตก
หากได้ดูแลพืชผลนั้นอย่างดี ก็จะสุกงอมให้ผลอย่างแน่นอน

ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ก็ขอให้เราปิติยินดีอยู่เสมอ

บทสวดนี้ประพันธ์ขึ้นจากคำถามของเกเชสาเกียปะรูปหนึ่ง ซึ่งถามว่าเราควรต้องทำอะไรเมื่อเราเกิดความเจ็บไข้และอื่นๆ ข้าพเจ้า พระภิกษุทกเม ผู้สาธยายพระธรรม ได้ประพันธ์แนวทางเหล่านี้ขึ้นมา เพื่อเปลี่ยนแปลงความเจ็บไขได้ป่วยและสถานการณ์อันเลวร้ายอื่นๆ ให้เป็นเส้นทางสู่การบรรลุธรรม

สรฺว มงฺคลํ!

http://www.lotsawahouse.org/lojong/transform_sickness.html

จะเชื่อใครดี?

เมื่อวันก่อนผมนั่งกินข้างกับเพื่อนอาจารย์ที่รู้จักกันมานาน เพื่อนคนนี้เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยตามที่คนทั่วไปวาดภาพเอาไว้ คือขยันทำงาน ขยันสอนและทำผลงานทางวิชาการ มีความคิดอ่านแบบคนสมัยใหม่ทั่วไป เนื่องจากเขาจบปริญญาเอกมาจากสหรัฐอเมริกา ผมไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่า เขาก็สนใจธรรมะด้วย จนกระทั่งมาคุยกันเมื่อวันก่อน เขาถามผมเรื่องการปฏิบัติธรรมและการทำสมาธิ แล้วเขาก็เล่าว่าเขาก็พยายามปฏิบัติธรรมด้วยการเดินจงกรมเป็นหลัก แล้วก็ถามผมว่าผมปฏิบัติธรรมอย่างไร ซึ่งผมก็ตอบเขาไป เขาเล่าว่าเขาอ่านหนังสือธรรมะมาหลายเล่ม เช่นหนังสือของหมอสม สุจีรากับของคุณศุภวรรณ กรีน ท่าทางเขาจะสนใจอ่านหนังสือพวกนี้เอามากๆ เพราะเขาสามารถเล่าเรื่องที่คุณศุภวรรณบอกไว้ว่า การเข้าถึงนิพพานไม่ใช่เรื่องยาก และงานของหมอสมเป็นการเปรียบเทียบพระพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์ โดยพระพุทธศาสนาเหนือกว่าวิทยาศาสตร์ในประการต่างๆ ผมฟังด้วยความสนใจ เพราะไม่เคยคิดมาก่อนว่า เพื่อนคนนี้จะสนใจธรรมะขนาดนี้

ผมตอบเขาไปว่า วิธีการนั่งสมาธิของผมส่วนมากเป็นการสังเกตลมหายใจ โดยหายใจเข้าออกนับหนึ่ง แล้วก็นับสองสามไปเรื่อยๆ จากนั้นผมก็ถามเขาว่าเขาเรียนธรรมะกับอาจารย์คนไหนบ้างหรือไม่ เขาตอบว่าไม่ได้เรียนกับอาจารย์คนไหน แต่ศึกษาเอาจากหนังสือต่างๆเป็นหลัก เขารำพึงออกมาดังๆว่า หนังสือธรรมะมีมากมาย ไม่รู้จะเชื่อใครดี เขาถามผมว่า ลำพังเพียงแค่การนั่งสมาธิหรือเดินจงกรม จะเข้าถึงนิพพานได้จริงๆหรือ? ก็หมายความว่าเขาสนใจธรรมะขนาดสนใจเรื่องนิพพานด้วย และผมคิดว่าลึกๆเขาคงอยากรู้ว่าเข้าถึงนิพพานเป็นอย่างไร จากการที่เขาอ่านหนังสือธรรมะสมัยใหม่มาหลายๆเล่ม

ที่ผมสนใจมากคือที่เขารำพึงออกมาว่าจะเชื่อใครดี? ในโลกสมัยใหม่ที่มีอาจารย์ธรรมะมากมาย และมีการประกันเสรีภาพทางศาสนา และเสรีภาพในการเชื่อ การสงสัยว่าจะเชื่อใครดีเป็นเรื่องที่ต้องเกิดขึ้นแน่นอน ผมไม่ได้ตอบเขาไปตรงๆว่าจะเชื่อใครดี เพราะหากทำแบบนั้นก็จะเหมือนกับว่าผมพยาามชักจูงเขาให้มาเชื่อสำนักใดสำนักหนึ่ง ผมคิดในใจว่าน่าจะปล่อยให้เขาแสวงหาต่อไป คนอย่างเขาคงต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง กว่าที่เขาจะพบกับคำตอบที่ตัวเขาเองพอใจได้

คนที่เรียนธรรมะมาบ้างๆ คุ้นกับแนวทางการตอบของคณะสงฆ์กระแสหลัก อาจจะคิดว่าคำตอบคือให้ดูว่าคำสอนนั้นนำไปสู่การพ้นทุกข์หรือไม่ หรืออะไรทำนองนี้ แต่สถานการณ์ปัจจุบันก็คือว่า ในแวดวงของพระพุทธศาสนาเอง ต่างกลุ่มก็ต่างสอนว่าแนวทางของตนเองนำไปสู่การดับทุกข์ทั้งนั้น และต่างฝ่ายก็บอกว่าแนวทางของตนเองสอดคล้องกับคำสอนของพระพุทธเจ้า ดังนั้นเพียงแค่ดูผิวๆว่าคำสอนนี้อ้างพระไตรปิฎกหรือไม่ หรือว่ามีการพูดถึงว่าจะนำไปสู่การพ้นทุกข์หรือไม่ ก็อาจไม่พอ เพราะต่างสำนักก็พูดเรื่องนี้กันทั้งนั้น ทุกกลุ่มสอนว่าพระนิพพานเป็นเป้าหมายสูงสุด แต่มีความแตกต่างกันในเรื่องวิธีการ ต่างกลุ่มก็อ้างพระไตรปิฎกกันทั้งนั้น แต่ต่างกันในเรื่องการเข้าใจความหมายของพระไตรปิฎก กับคัมภีร์อื่นๆในระดับรองๆลงมา แนวทางของคุณศุภวรรณก็แบบหนึ่ง ของหลวงพ่อปราโมทย์ก็อีกแบบหนึ่ง ของวัดธรรมกายก็อีกแบบหนึ่ง และอื่นๆอีก จึงไม่น่าประหลาดใจเลยว่า คนสมัยใหม่ส่วนมากงงว่าในเรื่องของธรรมะควรจะเชื่อใครดี?

ผมแนะนำเพื่อนไปว่า น่าจะหาอาจารย์สักคนหนึ่งที่ตนเองรู้สึกผูกพันด้วย แล้วไปเรียนธรรมะกับอาจารย์ท่านนั้น การอ่านหนังสือธรรมะเองแล้วปฏิบัติเอาเองไม่ใช่อะไรที่ควรแนะนำเลย เพราะประสบการณ์ทางธรรมเป็นเรื่องเฉพาะตนมาก ต้องอาศัยการถ่ายทอดประสบการณ์ตรงจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง ซึ่งการถ่ายทอดแบบนี้การเล่าจากบุคคลจริงดีกว่าการอ่านหนังสือมาก เพราะบุคคลจริงมีท่าทาง แววตา การตอบคำถามกลับไปกลับมา ซึ่งทำไม่ได้จากการอ่านหนังสือ ผมคิดว่าจะชวนเขามาร่วมกิจกรรมของมูลนิธิแล้ว แต่ไม่ได้บอกเขาไป เพราะเพิ่งเริ่มคุยกันเรื่องธรรมะเป็นครั้งแรก เดี๋ยวเขาจะตกใจไปเสียก่อน

แล้วตกลงเราจะเชื่อใครดี? ในพระพุทธศาสนาทิเบตมีคำกล่าวว่า ก่อนที่จะเลือกอาจารย์ที่เราจะเรียนปฏิบัติธรรมด้วยนั้น ต้องตรวจสอบอาจารย์จนแน่ใจ ซึ่งใช้เวลาถึงสามปี และในทำนองเดียวกันอาจารย์ก็ต้องตรวจสอบคนที่จะรับเป็นศิษย์ด้วย ซึ่งก็ใช้เวลาสามปีเช่นเดียวกัน ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าในการปฏิบัติธรรมนั้น ถ้าเราไม่เลือกให้ดี เราอาจจะได้คำสอนที่เป็นมิจฉาทิฏฐิมา ซึ่งแทนที่จะทำให้เราพ้นทุกข์ แต่อาจพาเราไปอบายภูมิแทนก็ได้

แล้วเราจะทำอย่างไรถึงจะรู้ว่าอาจารย์คนนี้สมควรที่เราจะฝากตัวเป็นลูกศิษย์? ประการแรกเราต้องรู้สึกผูกพันอยู่กับอาจารย์คนนั้น เรื่องนี้อธิบายเป็นรูปธรรมได้ค่อนข้างยาก เป็นเรื่องของจิตใจของผู้ปฏิบัติที่จะเกิดความรู้สึกผูกพันกับครูคนในคนหนึ่งเป็นพิเศษ เราจะรู้สึกอย่างนี้ได้เมื่อเราตั้งใจจริงที่จะปฏิบัติธรรม ไม่ใช่แค่ทำตามแฟชั่นประเดี๋ยวประด๋าว ถามใจของเราลึกๆว่าเรารู้สึกอย่างไรกับอาจารย์คนนี้ อย่าไปฟังคนอื่นๆพูด เช่นอย่าไปฟังคนโฆษณาให้เราว่า อาจารย์รูปนั้นรูปนี้ดีอย่างนั้นอย่างนี้ หากเราไม่ถามใจตัวเองลึกๆจริงๆ แต่ไปตามคำแนะนำของเพื่อนประเภทไปไหนไปนั่น เราอาจจะไม่ประสบความสำเร็จในการปฏิบัติเลยก็ได้ เพราะเราไม่ถามใจเราเองว่าผูกพันกับอาจารย์รูปนี้จริงๆหรือไม่

ผมเอาคำพูดของเพื่อนผมคนนี้กลับมาใคร่ครวญหลังจากที่พบกันวันนั้นจนถึงวันนี้ก็หลายวันอยู่ เขามีความตั้งใจจริงจะปฏิบัติธรรม แต่ถ้าได้พบเขาอีกและได้คุยกันเรื่องนี้ ก็จะบอกเขาไปว่า ขั้นตอนแรกสุดคือหาอาจารย์ของตัวเองให้พบ แต่ถ้ายังหาอาจารย์ที่ถูกใจไม่ได้ สิ่งสำคัญที่ต้องทำคือการสร้างกุศลกรรม เพื่อสร้างสมบุญบารมีให้ตนเองมีความเหมาะสมที่จะเข้าใจพระธรรมได้จริงๆ อย่างเพื่อนผมนี้คงไม่ได้ตั้งใจถือศีลอะไร เขาอาจคิดว่าการถือศีลไม่จำเป็น ไม่ใช่ “ทางสายตรง” มุ่งสู่พระนิพพานก็ได้ ซึ่งถ้าเขาคิดอย่างนี้ก็น่าเสียดายเหมือนกัน เพราะศีลถือเป็น “เงื่อนไขจำเป็น” ในการปฏิบัติธรรมให้ได้ผล พระพุทธโฆษาจารย์กล่าวไว้ในคัมภีร์ “วิสุทธิมรรค” ว่า ศีลเหมือนกับรองเท้าหนังอย่างดี การปฏิบัติเพื่อให้บรรลุธรรมนั้นเหมือนกับการบุกป่ารกเต็มไปด้วยหนามแหลม ถ้าเราไม่ใส่รองเท้าดีๆไม่ให้เท้าของเราต้องโดนหนามตำตลอดเวลา ก็ยากที่เราจะฟันฝ่าป่าแห่งนี้ออกไปสู่อีกฝั่งหนึ่งได้

นอกจากนี้แล้วก็ควรจะฟังการบรรยายธรรม ฟังอะไรก็ได้ ขอให้เป็นธรรมะเถอะ ฟังได้ทั้งหมด เวลาฟังก็อย่าไปวิพากษ์วิจารณ์คนพูดตลอด เพราะนั่นเป็นการปิดหูเราไม่ให้เข้าถึงความหมายภายใต้การบรรยายธรรมนั้น ต้องหัดเปิดตัวเองซึมซับธรรมะเข้าไปในตัวเองอย่างเป็นธรรมชาติ เรื่องนี้อาจารย์มหาลัยอย่างเพื่อนผมคนนี้ทำได้ค่อนข้างยาก เพราะวัฒนธรรมของพวกเราคือ ไม่เชื่ออะไรไว้ก่อน แล้วก็ตั้งคำถามไม่หยุดหย่อน ระแวงไปหมดว่าที่ตัวเองฟังอยู่เป็นจริงแค่ไหน เชื่อได้แค่ไหน ทำไมที่ฟังอยู่มันไม่เหมือนกับของอีกคน ฯลฯ ถ้าคิดแบบนี้เราก็จะเข้าไม่ถึงธรรมะซักที ดังนั้นต้องเปลี่ยนทัศนคติในการฟังธรรม มันไม่เหมือนกับการฟังคนบรรยายในการประชุมวิชาการ

ผมตั้งใจว่าจะคุยกับเพื่อนคนนี้ต่อ แต่จริงๆแล้วผมไม่สามารถไปเริ่มเรื่องพวกนี้ได้เอง ต้องรอให้เพื่อนผมเริ่มเข้ามาก่อน เขามีแววจะเข้าใจธรรมะอย่างแท้จริง เพราะมีปัญญามาก เพียงแต่โอกาสยังไม่เปิดให้เขาได้มองเห็นความจริงแท้ของพระธรรมเท่านั้น